3 เคล็ดลับดูแลพอร์ตกองทุนหลังเกษียณ ทำตามง่าย และมีประสิทธิภาพ

จัดพอร์ตกองทุนหลังเกษียณอย่างไรดี

ผู้เขียน จิณณรักษ์ เจตน์รังสรรค์ CFP®

เพราะ การเกษียณอายุ หมายถึง การปลดล็อกความกังวลทางการเงินเพื่อนำพาตนเองไปสู่เป้าหมายในชีวิตอื่น ๆ ที่ต้องการได้โดยที่ไม่ต้องทำงาน อย่างไรก็ดี การจะเกษียณอายุได้อย่างมั่นคงนั้นยังต้องอาศัยอิสรภาพทางการเงิน (Financial Freedom) เช่นกัน ซึ่งนอกจากจะต้องมีเงินเก็บสำรองที่มากเพียงพอแล้ว การลงทุนและมีพอร์ตกองทุนหลังเกษียณเป็นของตัวเองก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยต่อยอดเงินเก็บและสร้างรายได้ แม้จะเกษียณจากการทำงานแล้วก็ตาม 

หากใครกำลังวางแผนเกษียณอายุให้ตัวเองอยู่ แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นวางแผนและบริหารพอร์ตกองทุนหลังเกษียณด้วยตัวเองอย่างไรให้มีประสิทธิภาพและมีเงินใช้ไม่ขาดมือ วันนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนจาก Money Adwise มีเคล็ดลับดี ๆ มาฝากกัน

 

เคล็ดลับที่ 1 : เข้าใจทิศทางเศรษฐกิจก่อนตัดสินใจลงทุน


ไม่ว่าจะเป็นพอร์ตกองทุนหลังเกษียณประเภทไหน สภาพเศรษฐกิจก็ยังคงเป็นปัจจัยแรกที่ต้องพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง โดยทั่วไปแล้ว สภาพเศรษฐกิจนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ซึ่งจะมีรายละเอียดแตกต่างกัน ดังนี้

 

1. เงินฝืด (Deflation)

สภาวะเงินฝืด หรือ Deflation คือ สภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและมีความไม่มั่นคงสูง ส่งผลให้ความต้องการในตลาด (Demand) ลดลง ผู้คนเก็บเงินไว้กับตัวเองมากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้บรรดาข้าวของและบริการต่าง ๆ มีราคาที่ถูกลงและมีจำนวนล้นตลาด ที่สำคัญ สภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ยังทำให้คนตกงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากธุรกิจไม่มีกำลังในการจ้างนั่นเอง


ควรลงทุนอะไรในช่วงเงินฝืด?

ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัวจากสภาวะเงินฝืด แน่นอนว่าสินค้าหลาย ๆ ประเภทก็กำลังมีราคาที่ถูกลง ส่งผลให้ผู้ถือเงินอย่างเรา ๆ รู้สึกว่า เงิน 1 หน่วยที่ถืออยู่นั้นมีกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น หากใครกำลังวางแผนเกษียณในช่วงเงินฝืด การลงทุนที่เหมาะสมนั้นจะเป็นการลงทุนในลักษณะซื้อมาขายไป และมีแนวโน้มว่าจะมีราคาสูงขึ้นหลังจากที่สภาวะเงินฝืดคลี่คลาย หรืออาจเลือกลงทุนกับผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างสม่ำเสมอ เช่น

  • ทองคำ
  • อสังหาริมทรัพย์
  • ตราสารหนี้
  • ตราสารทุน
  • เงินสด


2. เงินเฟ้อ (Inflation)


ในทางตรงกันข้าม เงินเฟ้อ หรือ Inflation คือ ภาวะเศรษฐกิจที่สินค้าและบริการมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี หากอยู่ในระดับที่เหมาะสมและสามารถควบคุมได้ เงินเฟ้อก็สามารถส่งผลดีต่อกับเศรษฐกิจได้เช่นกัน เพราะเงินเฟ้อในระดับที่พอดีจะทำให้เกิดการกระจายรายได้ไปยังส่วนต่าง ๆ มากขึ้น และทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เช่น คนซื้อจะใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ผลิตสร้างสินค้าและเพิ่มการผลิตให้สูงขึ้น เป็นต้น


ควรลงทุนอะไรในช่วงเงินเฟ้อ?

“การลงทุนเพื่อเอาชนะเงินเฟ้อ” อาจเป็นอีกหนึ่งวลีฮิตที่หลายคนได้ยินอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนที่ต้องการเกษียณตัวเองออกจากการทำงาน แต่อย่างไรก็ดี การจะลงทุนเพื่อเอาชนะเงินเฟ้อได้นั้น นักลงทุนไม่ควรจะเลือกลงทุนกับผลิตภัณฑ์ที่มีการกำหนดผลตอบแทนเอาไว้ล่วงหน้าแบบคงที่ เช่น เงินฝาก หรือ ตราสารหนี้ เพราะอย่าลืมว่า เงินเฟ้อทำให้มูลค่าของเงินลดลง ดังนั้น การได้ผลตอบแทนที่คงที่จากการลงทุนความเสี่ยงต่ำ อาจช่วยบริหารความเสี่ยงได้ แต่ผลตอบแทนที่ได้ก็จะมีมูลค่าน้อยลง เนื่องจากกำลังซื้อของเราลดลงด้วย  

ด้วยเหตุนี้ หากใครที่กำลังวางแผนเกษียณในช่วงนี้ นอกจากจะต้องบริหารเงินฝากของตัวเองใหม่แล้ว การเปิดพอร์ตกองทุนหลังเกษียณและมองหาการลงทุนทางเลือกอื่น ๆ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจเช่นกัน โดยนักลงทุนอาจวางแผนลงทุนกับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น

  • กองทุนต่างประเทศที่ไม่มีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ และตลาดหุ้นในภาพรวมที่คึกคัก
  • กองทุนที่ลงทุนในธุรกิจที่มีความน่าเชื่อถือสูง ผลประกอบการค่อนข้างสม่ำเสมอ มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ดี
  • กองทุนธุรกิจสินค้าอุปโภคและบริโภคติดตลาด และไม่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อ
  • ทองคำ


เคล็ดลับที่ 2 : บริหารกระแสเงินสดให้ดี


เมื่อทราบถึงสภาวะเศรษฐกิจที่มีผลต่อการเปิดพอร์ตกองทุนหลังเกษียณและการลงทุนประเภทต่าง ๆ แล้ว คนที่วางแผนเกษียณทุกคนยังต้องเริ่มบริหารจัดการกระแสเงินสดให้ดีเพื่อวางแผนการลงทุนในอนาคตด้วย โดยการเริ่มต้นบริหารกระแสเงินสดนี้ สามารถเริ่มทำได้ง่าย ๆ ดังนี้

  1. ทำบัญชีรายรับ - รายจ่าย เพื่อพิจารณาพฤติกรรมทางการเงินของตัวเอง พร้อมวางแผนการใช้จ่ายเงินทั้งหมดทั้งก่อนและหลังเกษียณ 
  2. อย่าเก็บเงินเพียงอย่างเดียว! เพราะอย่าลืมว่าสภาวะเศรษฐกิจนั้นอาจทำให้มูลค่าของเงินเก็บในธนาคารมีน้อยลงได้ 


แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เงินเก็บในธนาคารอาจมีมูลค่าลดลงจากภาวะเศรษฐกิจต่าง ๆ แต่ผู้วางแผนเกษียณทุกคนก็ไม่ควรนำเงินเก็บทั้งหมดมาลงทุน หรือ เปิดพอร์ตกองทุนหลังเกษียณเพียงอย่างเดียว เพราะอย่าลืมว่า ทุกการลงทุนนั้นมีความเสี่ยงแฝงอยู่ในทุกการตัดสินใจ ด้วยเหตุนี้ หากใครทำงานมาสักระยะ จนเริ่มมีเงินเก็บที่เพียงพอ และกำลังวางแผนเกษียณอยู่ เราอยากขอแนะนำให้ลองแบ่งเงินเก็บออกเป็น 4 ส่วนหลัก ประกอบไปด้วย

  • เงินสำหรับใช้จ่ายประจำวัน คือ บัญชีสำหรับใช้จ่ายประจำวันในแต่ละเดือน โดยแหล่งของเงินในส่วนนี้จะมาจากกำไรและเงินปันผลจากพอร์ตกองทุนหลังเกษียณ
  • เงินเก็บสำรองฉุกเฉิน เป็นเงินเก็บที่จะไม่มีการนำออกมาใช้จนกว่าจะเกิดเหตุฉุกเฉินจริง ๆ เพียงพอสำหรับรายจ่าย 3-6 เดือน อาจเก็บไว้ในธนาคาร หรือ สหกรณ์ออมทรัพย์ประเภทต่าง ๆ เพื่อรับดอกเบี้ยอย่างสม่ำเสมอ
  • เงินเก็บสำหรับลงทุน คือ เงินเก็บที่แบ่งส่วนเอาไว้ลงทุนเพียงอย่างเดียว โดยอาจเลือกลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เรามีความรู้ กองทุนต่าง ๆ หรือเลือกลงทุนกับผลิตภัณฑ์ที่มีผลตอบแทนย้อนหลัง 10 ปีที่ค่อนข้างสูง โดยจัดพอร์ตให้เหมาะกับระยะเวลาลงทุนและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

 

เคล็ดลับที่ 3 : เลือกกองทุนให้เหมาะสมกับตัวเรา


“กองทุน” ถือเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์การลงทุนที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่ต้องการวางแผนเกษียณให้กับตัวเอง เพราะนอกจากจะมีให้เลือกสร้างผลตอบแทนตามความต้องการแล้ว นักลงทุนยังสามารถเลือกลงทุนกับกองทุนได้ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้อีกด้วย โดยการเลือกเปิดพอร์ตกองทุนหลังเกษียณของตัวเองนั้น นอกจากจะต้องพิจารณาถึงเงินเก็บและทิศทางเศรษฐกิจแล้ว ผู้วางแผนเกษียณยังสามารถพิจารณาเลือกกองทุนจาก 3 ปัจจัย ดังนี้


1. Mega Trend

Mega Trend คือ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ของโลก ซึ่งสามารถสร้างผลกระทบในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ธุรกิจ ไปจนถึงชีวิตประจำวันของเราทุกคน 

Mega Trend ส่งผลต่อการลงทุนกองทุนอย่างไร?

หากยังนึกภาพไม่ออกล่ะก็ ลองคิดถึงช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่มีวิกฤตภาวะโลกร้อนขึ้น แน่นอนว่า ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม หรือ Sustainability ก็กลายเป็นอีกหนึ่ง Mega Trend ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้บรรดาธุรกิจได้หันมาเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิต รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งทำให้ธุรกิจหลายแห่งได้เริ่มเปิดกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในพลังงานทางเลือก เช่น กองทุน WE-TENERGY และกองทุน WE-GSECURE จาก WEASSET หรือ กองทุน K-CHANGE-A(A) จาก KASSET และกองทุน MRENEW-A จาก MFC เป็นต้น

ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนกองทุนทุกครั้ง การศึกษาและตรวจสอบ Mega Trend ที่สนใจก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกดี ๆ ที่จะช่วยให้สามารถสร้างพอร์ตกองทุนหลังเกษียณที่เหมาะสมกับเราได้


2. พิจารณาตามความเสี่ยงที่รับไหว

การเปิดพอร์ตกองทุนหลังเกษียณที่มีประสิทธิภาพสามารถพิจารณาจากความเสี่ยงของกองทุนที่เลือกลงทุนได้เช่นกัน ยิ่งหากเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงสูง โอกาสในการสร้างผลตอบก็จะยิ่งมาก ซึ่งนักลงทุนสามารถพิจารณาความเสี่ยงของกองทุนได้จาก 2 ปัจจัย คือ

  • ค่า SD (Standard Deviation) คือ ค่าที่แสดงความผันผวนของกองทุน ซึ่งหากมีตัวเลขที่สูงเท่าไหร่ กองทุนก็จะยิ่งมีความเสี่ยงสูงไปด้วย 
  • ค่า Sharpe Ratio คือ ค่าอัตราส่วนผลตอบแทนต่อความเสี่ยง ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการบริหารกองทุน โดยหากค่า Sharpe Ratio สูงเท่าไหร่ ประสิทธิภาพในการบริหารกองทุนก็จะยิ่งสูง


3. พิจารณาจากขนาดของกองทุนที่ต้องการ

นักลงทุนหลายคนอาจเข้าใจว่า กองทุนทุกประเภทนั้นมีขนาดเท่ากัน แต่แท้ที่จริงแล้ว กองทุนแต่ละประเภทนั้นมีขนาดที่แตกต่างกันไปตามมูลค่าสินทรัพย์ที่บริหารอยู่ในกองทุน ซึ่งหากเป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่ก็จะมีการซื้อขายที่สะดวกกว่า เนื่องจากมีสภาพคล่องที่สูง นอกจากนี้ กองทุนที่มีขนาดใหญ่อาจไม่มีปัญหาในเรื่องของปริมาณการซื้อขายหน่วยลงทุนที่ส่งผลต่อผลตอบแทน 


จะเห็นได้ว่า การวางแผนเกษียณและเปิดพอร์ตกองทุนหลังเกษียณเพื่อสร้างรายได้นั้นมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย จะดีกว่าไหม? หากมีคนช่วยวางแผนการลงทุนที่ช่วยทำให้ได้รับกระแสเงินสดสม่ำเสมอจากเงินลงทุนระยะยาว หากใครกำลังมองหาผู้ช่วยดี ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ในเรื่องนี้ได้ Money Adwise พร้อมช่วยให้คุณวางแผนการลงทุน พร้อมจัดพอร์ตกองทุนหลังเกษียณแบบกระจายการลงทุนทั่วโลก เพื่อสร้างผลตอบแทน 6% - 7% ต่อปี พร้อมมีกระแสเงินสดรายเดือนในอัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 4% - 5% ต่อปี* ติดต่อเพื่อรับคำปรึกษาครั้งแรกฟรีที่ Line: @MoneyAdwise หรือคลิกเพื่อนัดวางแผนปรึกษาครั้งแรก


*ไม่ใช่การการันตี

**การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาเงื่อนไข ผลตอบแทน และนโยบายของผลิตภัณฑ์ก่อนตัดสินใจลงทุน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้