ชี้ชัด! ESG Investing เป็นการลงทุนต่างประเทศที่เหมาะกับใครบ้าง

เจาะลึกเทรนด์การลงทุนต่างประเทศ ESG Investing

ผู้เขียน รัฐพล วชิรเมฆากุล CFP®

ภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายแง่มุม ซึ่งแน่นอนว่า การเงินและการลงทุนเองก็มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนเช่นเดียวกัน และที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ ‘ธีมการลงทุน’ ที่ค่อย ๆ ผลัดเปลี่ยนมาเป็น ESG Investing หรือ Environmental, Social and Governance Investment กันมากขึ้น

สำหรับ ESG Investing จัดเป็นธีมการลงทุนต่างประเทศขนาดใหญ่ที่จะโฟกัสการลงทุนไปที่การรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและชีวิตในด้านต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ ESG Investing จึงได้รับความนิยมในหมู่นักลงทุนรุ่นใหม่ทั่วโลก จนทำให้หลาย ๆ คน โดยเฉพาะนักลงทุนไทย เริ่มสงสัยว่า ESG Investing จะเป็นเทรนด์การลงทุนที่น่าสนใจเหมือนอย่างที่กล่าวอ้างหรือไม่ หากใครกำลังสงสัยเรื่องนี้อยู่ Money Adwise มีคำตอบ

ESG Investing คืออะไร?

ก่อนที่จะไปดูว่า ESG Investing เป็นการลงทุนต่างประเทศที่น่าสนใจมากน้อยแค่ไหน นักลงทุนทุกคนจะต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องถึงคอนเซ็ปต์และแนวคิดของธีมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนนี้เสียก่อน

โดย ESG Investing คือ ‘แนวคิด’ การลงทุนรูปแบบหนึ่งที่นักลงทุนจะโฟกัสและเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมที่แท้จริง ซึ่งจะสามารถวัดและประเมินผลได้จากการดำเนินงาน 3 ด้าน ประกอบไปด้วย 

1. ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) 

พิจารณาว่าการดำเนินการของธุรกิจส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร เช่น มีการลดสารเคมี หยุดการทดลองในสัตว์ การเข้าร่วมแผนพัฒนาสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น Net Zero Emission หรือ Paris Agreement ตลอดจนการเลือกใช้พลังงานสะอาดเพื่อคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น และสามารถช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนได้

2. ด้านสังคม (Social)

พิจารณาจากนโยบายของธุรกิจที่สามารถสร้างผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงที่ดีทั้งในและนอกธุรกิจ รวมไปถึงชุมชน โดยการประเมินผลด้านสังคมนี้สามารถพิจารณาได้ในหลายแง่มุม เช่น การสร้างความเท่าเทียมในที่ทำงานทั้งในเรื่องของเพศสภาพ เชื้อชาติ และยอมรับความแตกต่างอื่น ๆ โดยไม่มีอคติ รวมไปถึงการพัฒนาชุมชนเพื่อมุ่งสู่ชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นการฝึกอาชีพ การดูแลเรื่องสุขภาพ รวมไปถึงการจ้างงาน

3. ด้านบรรษัทภิบาล (Governance)

‘บรรษัทภิบาล’ หมายถึง กระบวนการดูแลกิจการเพื่อให้องค์กรก้าวไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ และตอบสนองความต้องการของทุกคนได้อย่างครอบคลุม ซึ่งในส่วนนี้สามารถพิจารณาได้จากความโปร่งใสในการทำงาน ซึ่งอาจรวมไปถึงการให้เงินเดือนของทุกคนในธุรกิจ และนโยบายการตรวจสอบคอร์รัปชันภายในองค์กร ที่สำคัญการพิจารณาด้านบรรษัทภิบาลยังรวมไปถึงความสามารถในการบริหารและจัดการปัญหา ความเสี่ยง รวมถึงความสามารถในการทำความเข้าใจและบริหารผู้ร่วมถือหุ้นทั้งหมดอีกด้วย

และเมื่อพิจารณาจากทั้ง 3 ปัจจัยใน ESG Investing แล้ว นักลงทุนจึงพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนควบคู่ ตลอดจนวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกทางการเงินและการบริหารจัดการต่าง ๆ เพื่อวางแผนสร้างผลตอบแทนไปพร้อมกับลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและสร้างความยั่งยืนที่แท้จริงได้

แนวทางวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ทางการเงินในกลุ่ม ESG

ถึงจะมีแนวคิดและคอนเซ็ปต์ในการลงทุนที่น่าสนใจ แต่การลงทุนทุกประเภทก็ต้องพิจารณาถึงแนวทางในการสร้างผลตอบแทนเช่นเดียวกัน ซึ่งสำหรับ ESG Investing นั้น นักลงทุนสามารถวางแผนวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ทางการเงินในกลุ่ม ESG ได้ 2 ทาง คือ

1. งบประมาณที่ธุรกิจนำไปลงทุนในด้าน ESG

แนะนำให้ศึกษางบประมาณและค่าใช้จ่ายที่ธุรกิจนำไปใช้ในการดำเนินการด้าน ESG จากนั้นลองมองในระยะยาวว่า การลงทุนด้าน ESG ในอนาคตจะมีมูลค่าเท่าไหร่ มีปัจจัยใดส่งผลกระทบต่อมูลค่านี้บ้าง และการลงทุนนี้มีความเสี่ยงด้านใด มากน้อยแค่ไหน หรืออาจศึกษาได้จากรายงานความยั่งยืนที่เปิดเผยในรายงานประจำปีของธุรกิจ

2. ติดตาม Fund Flow อย่างใกล้ชิด

Fund Flow คือ เงินลงทุนจากนักลงทุนที่ไหลเข้ามาสู่ประเทศหนึ่ง หรือ จากธุรกิจหนึ่งไปอีกธุรกิจ หรือ การเปลี่ยนสินทรัพย์ลงทุน ซึ่งการเข้ามาของ Fund Flow นี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่ควรค่าแก่การลงทุนจนทำให้มีนักลงทุนเข้ามาร่วมลงทุนด้วย ดังนั้น หากธุรกิจสามารถยืนหยัดและดำเนินการในด้าน ESG ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โอกาสที่จะดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนก็จะยิ่งมีสูง ซึ่งส่งผลดีต่อนักลงทุนในแง่การพิจารณาเลือกซื้อขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินและการลงทุนของธุรกิจ

ในปัจจุบันนี้ ตลาดการลงทุนไทยได้ค่อย ๆ มีการปรับเปลี่ยนและยกระดับการลงทุนไปสู่ ESG Investing มากขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจในความยั่งยืนที่กำลังเพิ่มขึ้นในธุรกิจต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยที่ผ่านมาได้เริ่มมีการจัดทำ “การระงับลงทุน” หรือ Negative List Guideline เพื่อระงับการลงทุนในธุรกิจที่ไม่ดำเนินงานตามด้าน ESG อีกด้วย นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์การเงินด้าน ESG ก็มีจำนวนมากขึ้นอีกด้วย

ข้อควรระวังเกี่ยวกับ ESG Investing

ข้อควรระวังเกี่ยวกับ ESG Investing

แม้ว่าจะมีแนวคิดและแนวทางปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ แต่ ESG Investing ก็เป็นอีกหนึ่งประเภทการลงทุนต่างประเทศและในไทยที่มาพร้อมกับข้อควรระวังเช่นเดียวกัน โดยเรื่องที่ต้องพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุนผลิตภัณฑ์กลุ่ม ESG นั้นจะประกอบไปด้วย 

1. ประเด็นเรื่อง Green Washing

ธุรกิจบางส่วนอาจมีการสร้างภาพลักษณ์ที่สอดคล้องกับ ESG Investing แต่แท้ที่จริงแล้ว ไม่ได้มีนโนบายการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับ ESG Investing เลยแม้แต่น้อย ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้สามารถเรียกได้ว่าเป็นการ Green Washing รูปแบบหนึ่ง 

ดังนั้น นักลงทุนจึงควรตรวจสอบนโยบายธุรกิจที่สนใจอย่างรอบคอบ เพราะอาจเสี่ยงเจอกับผลิตภัณฑ์ที่แฝงตัวเข้ามาในรูปแบบ Green Washing ได้ โดยข้อมูลส่วนนี้สามารถตรวจสอบได้จากข้อมูลความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน

2. หลักที่ใช้ประเมิน ESG Rating  

ESG Rating เป็นหลักที่ใช้ประเมินคุณภาพการดำเนินการด้าน ESG ของแต่ละธุรกิจ แต่ในปัจจุบัน สถาบันที่วัด ESG Rating จะมีหลักในการพิจารณาที่แตกต่างกัน ทำให้นักลงทุนอาจเกิดความสับสนและไม่รู้ว่าควรจะเลือกลงทุนกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินในกลุ่ม ESG อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนจึงต้องพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้านเพื่อวางแผนการลงทุนที่รัดกุมมากที่สุด

อย่างไรก็ดี ESG Investing จัดเป็นธีมการลงทุนต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในหลายแง่มุม ซึ่งความสำเร็จของการลงทุนแบบ ESG นี้เกิดขึ้นได้จากการร่วมมือกันของทุกคนอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการออกนโยบายการงดกู้เงินสำหรับธุรกิจที่ไม่ได้รักษาสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการเลือกผลิตภัณฑ์การลงทุนของนักลงทุนเอง 

ถึงแม้ว่าความสำเร็จจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็ไม่ใช่การการันตีผลตอบแทนในการลงทุนเช่นกัน ดังนั้น สำหรับใครที่ต้องการเริ่มเดินสายเทรนด์การลงทุนต่างประเทศอย่าง ESG Investing ควรที่จะต้องศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน หรือปรึกษากับ Money Adwise เราพร้อมให้คำแนะนำที่ถูกต้องและช่วยวางแผนการลงทุนที่ดีต่อโลกและสร้างผลตอบแทนได้จริง* วางแผนปรึกษาการลงทุนแบบ ESG Investing ได้ที่ Line : @MoneyAdwise (มี @ ด้วย) หรือคลิกเพื่อนัดปรึกษาบริการวางแผนการลงทุนทุกรูปแบบ

*ไม่ใช่การการันตี

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้