Asset Allocation เคล็ดลับการลงทุนเพื่อการเกษียณที่ไม่ควรมองข้าม

การลงทุนเพื่อการเกษียณ_Asset_Allocation_thumbnail

ผู้เขียน รัฐพล วชิรเมฆากุล CFP®

ไม่ว่าจะเป็นความสุขรูปแบบไหนก็ล้วนเกิดขึ้นจากความสบายใจเรื่องเงินเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ต้องการเกษียณตัวเองจากการทำงาน ซึ่งไม่เพียงแต่จะต้องวางแผนค่าใช้จ่ายรอบด้านอย่างรอบคอบเพื่อรองรับการใช้ชีวิตและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตเท่านั้น แต่ยังต้องเลือกผลิตภัณฑ์การลงทุนที่เหมาะสมเพื่อสร้างสภาพคล่องในชีวิตประจำวันและนำผลตอบแทนมาสะสมเป็นเงินสำรองไว้ใช้ได้อีกด้วย

อย่างไรก็ดี ตลอดแผนเกษียณอายุควรมีการปรับเปลี่ยนสินทรัพย์ที่เลือกลงทุนอยู่เสมอ เนื่องจากสินทรัพย์แต่ละประเภทมีช่วงเวลาในการให้ผลตอบแทนที่แตกต่างกัน ส่งผลให้การเลือกลงทุนในสินทรัพย์แบบเดียวอาจไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่เพียงพอต่อความต้องการในระยะยาวได้ ด้วยเหตุนี้ การปรับใช้เทคนิคการลงทุนเพื่อการเกษียณอย่าง Asset Allocation จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้แผนเกษียณอายุของทุกคนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้

 

ทำความเข้าใจ Asset Allocation

หากเปรียบเทียบเงินลงทุนเป็นไข่และประเภทการลงทุนเป็นตะกร้า ถ้าเรานำไข่ทุกฟองไปใส่ในตะกร้าใบเดียวเมื่อเวลาผ่านไป ทิศทางตลาดเปลี่ยน หรือมีปัจจัยแวดล้อมเข้ามากระทบทำให้ตะกร้าใบเดิมเสียหาย และแน่นอนว่าไข่ทุกฟองที่ลงในตะกร้าไว้ทั้งหมดก็อาจได้รับความเสียหายด้วยเช่นกัน หรือกลายเป็นขาดทุนได้โดยไม่ทันตั้งตัว

ด้วยเหตุนี้ การจัดสรรสินทรัพย์ หรือ Asset Allocation จึงเป็นเทคนิคที่ไม่ได้ชวนให้เก็บไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว แต่เป็นการกระจายไข่หลาย ๆ ฟองไปยังตะกร้าหลากหลายใบ ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงด้านการลงทุน รวมถึงยังเป็นการกระจายโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมให้กับสินทรัพย์ในแต่ละช่วงเวลา ถือว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีบริหารพอร์ตการลงทุนเพื่อการเกษียณที่ช่วยให้นักลงทุนสร้างผลตอบแทนสูงสุดตามช่วงเวลาและความเสี่ยงที่รับไหวได้เป็นอย่างดี

 

เตรียมตัวทำ Asset Allocation อย่างไร?

แม้จะเป็นเทคนิคกระจายการลงทุนให้มีความหลากหลาย แต่ Asset Allocation ก็ไม่ใช่การเดาสุ่ม หรือ เลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงมากและต่ำสุดเพื่อทำให้พอร์ตบาลานซ์ แต่นักลงทุนจะต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสินทรัพย์แต่ละประเภท อีกทั้งยังต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อนทำ Asset Allocation อีกด้วย ซึ่งสามารถเตรียมตัวได้ตามขั้นตอน ดังนี้

 

1. กำหนดเป้าหมายทางการเงินที่ต้องการ

การเริ่มลงทุนโดยปราศจากเป้าหมายทางการเงินก็เหมือนกับการเดินไปข้างหน้าโดยไม่รู้จุดหมาย ดังนั้น เพื่อเป็นการกำหนดทิศทางการลงทุน ตลอดจนเป็นแนวทางในการเลือกสินทรัพย์ที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ต้องการ อย่าลืมกำหนดเป้าหมายทางการเงินที่ต้องการก่อน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเพื่อการเกษียณ การลงทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว หรืออื่น ๆ ตามต้องการ

 

2. ศึกษาสินทรัพย์ที่ต้องการลงทุนให้รอบคอบ

สินทรัพย์แต่ละประเภท นอกจากจะมีเงื่อนไขในการสร้างผลตอบแทนที่แตกต่างกันแล้ว ยังมีช่วงเวลา สภาวะตลาด อีกทั้งความเสี่ยงที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น นักลงทุนจึงควรศึกษาความเสี่ยงที่ตนเองรับไหว ตลอดจนศึกษาความเสี่ยงของสินทรัพย์แต่ละประเภทให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง ซึ่งสามารถพิจารณาเบื้องต้นได้จาก 4 ปัจจัยหลัก ดังนี้

  1. ความเสี่ยงทางตลาด (Market Risk) เช่น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสนามการลงทุนตามอุปสงค์ และ อุปทานของตลาด
  2. ความเสี่ยงในอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk) เช่น อัตราดอกเบี้ยที่ส่งผลต่ออัตราผลตอบแทน
  3. ความเสี่ยงในอำนาจซื้อ (Purchasing Power Risk) เช่น สภาวะเงินเฟ้อ ทำให้มูลค่าเงินน้อยลง ผู้คนมีอำนาจในการซื้อที่ลดลง
  4. ความเสี่ยงทางธุรกิจ (Business Risk) เช่น กำไรของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์การลงทุน รวมไปถึงความเสี่ยงในการบริหารจัดการของธุรกิจ

 

3. วางแผนการลงทุนให้รัดกุม

เมื่อศึกษาความเสี่ยงและเงื่อนไขต่าง ๆ ของสินทรัพย์ที่สนใจแล้ว ในขั้นตอนนี้ นักลงทุนควรเริ่มต้นวางแผนลงทุนโดยพิจารณาจากหลาย ๆ ปัจจัยประกอบกัน ซึ่งจะประกอบไปด้วย

  • เงินทุนในการลงทุนที่ไม่กดดันสภาพคล่องตนเองจนเกินไป เพราะหากนำเงินมาลงทุนทั้งหมดและพลาดขาดทุน นอกจากจะเสียสภาพคล่องแล้ว ยังอาจต้องนำเงินจากเป้าหมายอื่น ๆ รวมถึงเงินเก็บสำรองมาใช้จนทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้
  • ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการลงทุนทั้งหมด เช่น ค่าธรรมเนียม อัตราแลกเปลี่ยนสำหรับการลงทุนต่างประเทศ
  • ระยะเวลาในการลงทุนที่สอดคล้องกับเป้าหมายทางการเงินที่ตั้งเอาไว้ เช่น หากเป็นการลงทุนเพื่อการเกษียณสามารถเลือกลงทุนสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นในระยะยาว

 

4. อย่าใจร้อน! ค่อย ๆ ติดตามผลการลงทุน

เมื่อลงเงินไปกับการลงทุน เป็นธรรมดาที่ทุกคนอยากเห็นผลตอบแทนในเร็ววัน แต่สำหรับการลงทุนแบบ Asset Allocation นั้น หากตัดสินใจปรับพอร์ตและลงทุนไปแล้ว ขอแนะนำให้ติดตามการลงทุนอย่างใกล้ชิด ตลอดจนสร้างวินัยในการลงทุนที่เหมาะสม และติดตามผลการลงทุนไปเรื่อย ๆ ตามแผนที่วางไว้ เพราะหากใจร้อน เร่งรีบปรับเปลี่ยนพอร์ตทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ศึกษาตลาดและสินทรัพย์ให้ดี หรือเปลี่ยนสินทรัพย์การลงทุนไปมา เนื่องจากยังไม่เห็นผลตอบแทนที่ต้องการ ก็อาจทำให้พอร์ตเสียสมดุลและไม่สร้างผลตอบแทนที่ต้องการได้

 

 

ควรปรับสัดส่วนการทำ Asset Allocation อย่างไรให้เข้ากับการลงทุนเพื่อการเกษียณ

สำหรับใครที่มีเป้าหมายเป็นการลงทุนเพื่อการเกษียณก็สามารถปรับใช้ Asset Allocation ได้ในหลายมุมมอง ไม่ว่าจะเป็นการปรับสัดส่วนสินทรัพย์การลงทุนตามความเสี่ยง เงินทุน ประสบการณ์ และระยะเวลาการลงทุน

เช่น สามารถเลือกลงทุนกับหุ้นน้อยลง เนื่องจากหุ้นมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง และหันไปเลือกลงทุนกับตราสารหนี้ หรือ พันธบัตรรัฐบาลแทน แต่สำหรับใครที่มีประสบการณ์สูงก็สามารถเลือกปรับสัดส่วนหุ้นให้มากกว่าการลงทุนประเภทอื่นได้ และภายในสัดส่วนการลงทุนหุ้นก็สามารถแบ่งออกเป็นการลงทุนในหุ้นทั้งไทยและต่างประเทศ ในประเภทต่าง ๆ ได้อีกด้วย

แต่นอกเหนือจากที่อธิบายไปข้างต้นแล้ว นักลงทุนที่มีเป้าหมายการลงทุนเพื่อการเกษียณยังสามารถปรับใช้ Asset Allocation ได้อีก 3 เทคนิค ซึ่งจะประกอบไปด้วย

 

1. Strategic Asset Allocation

Strategic Asset Allocation เป็นการทำ Asset Allocation ที่เน้นสัดส่วนการลงทุนที่หลากหลาย หวังผลการลงทุนในระยะเวลามากกว่า 1 ปี ซึ่งการทำ Strategic Asset Allocation จะครอบคลุมการลงทุนในสินทรัพย์ไทยและต่างประเทศ ประกอบไปด้วยหุ้นและตราสารหนี้

การทำ Strategic Asset Allocation จะมีความคล้ายคลึงกับกลยุทธ์ซื้อแล้วถือยาว (Buy and Hold) แต่แทนที่จะลงทุนและเก็บสินทรัพย์เอาไว้นาน ๆ โดยไม่พิจารณาปัจจัยรอบด้าน นักลงทุนควรพิจารณาการลงทุนตามสัดส่วนของอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังในแต่ละสินทรัพย์ร่วมด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทน นอกจากนี้ นักลงทุนยังควรกำหนดเป้าหมายการลงทุนให้ชัดเจน พร้อมปรับสมดุลพอร์ตของตัวเองเป็นระยะตามอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังในแต่ละช่วงเพื่อช่วยให้การใช้กลยุทธ์ Strategic Asset Allocation มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี การทำ Strategic Asset Allocation ต้องอาศัยการติดตามข่าวสารและเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เนื่องจากหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจและตลาดมีความผันผวนรุนแรง อาจทำให้เกิดผลขาดทุนที่อาจส่งผลต่อผลตอบแทนในภาพรวมได้

 

2. Constant-Weighting Asset Allocation

Constant-Weighting Asset Allocation เป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสำหรับผู้ที่เน้นลงทุนในระยะยาวอย่างการลงทุนเพื่อการเกษียณ โดยการทำ Asset Allocation ประเภทนี้จะเน้นการปรับสัดส่วนผลตอบแทนและความเสี่ยงให้กลับมาเป็นสัดส่วนที่ตั้งใจเอาไว้ตั้งแต่แรก

เช่น เมื่อเวลาผ่านไป หากในพอร์ตมีสินทรัพย์ที่มีสัดส่วนสูงกว่าสัดส่วนตั้งต้นก็ให้ขายออกเพื่อทำกำไร และปรับสัดส่วนของพอร์ตการลงทุนใหม่โดยการซื้อสินทรัพย์ที่มีสัดส่วนต่ำกว่าสัดส่วนตั้งต้น ซึ่งการทำเช่นนี้จะทำให้พอร์ตกลับมาอยู่ในสัดส่วนที่ตั้งใจเอาไว้ตั้งแต่แรก

 

3. Integrated Asset Allocation

Integrated Asset Allocation ถือเป็นการทำ Asset Allocation ที่มีประสิทธิภาพในหลาย ๆ มุมมอง เพราะนอกจากจะสามารถปรับใช้ได้ในการลงทุนระยะสั้น กลาง และยาวแล้ว การลงทุนแบบ Integrated Asset Allocation ยังเป็นการคัดสรรสินทรัพย์ที่สอดคล้องกับความเสี่ยงที่นักลงทุนรับไหว เศรษฐกิจ สถานการณ์รอบด้าน ตลอดจนปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนทั้งหมดมาพิจารณาด้วย

และไม่เพียงแต่จะมุ่งเน้นปรับพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลาเท่านั้น การทำ Integrated Asset Allocation ยังเปิดโอกาสให้นักลงทุนสร้างผลตอบแทนที่เป็นไปได้ในทุกรูปแบบตามประสบการณ์และความสามารถของนักลงทุนเอง ทำให้สามารถปรับสัดส่วนของพอร์ตการลงทุนได้หลากหลายตลอดเวลา

 

อย่างไรก็ดี การทำ Asset Allocation ยังมาพร้อมกับรายละเอียดอีกมากมายที่ต้องพิจารณาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความต้องการของนักลงทุน รวมไปถึงเป้าหมายยิบย่อยภายใต้เป้าหมายทางการเงินใหญ่ที่แตกต่างกันไปเช่นเดียวกัน

ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนที่มีแผนการลงทุนเพื่อการเกษียณจึงควรปรึกษากับที่ปรึกษาทางการเงินคุณวุฒิ CFP® เพื่อวางแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับเป้าหมายอย่างรอบด้าน Money Adwise มาพร้อมกับที่ปรึกษาทางการเงินคุณวุฒิ CFP® ที่พร้อมช่วยคุณเริ่มต้นวางแผนเกษียณได้อย่างถูกต้อง รองรับตั้งแต่การเงินส่วนบุคคลไปจนถึงการลงทุนเพื่อการเกษียณที่เหมาะสมกับความต้องการของคุณมากที่สุด นัดปรึกษาครั้งแรกฟรี

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้