เข้าใจก่อนวางแผน! 'ประกันสุขภาพ' กับ 'ประกันชีวิต' ต่างกันอย่างไร?

วางแผนเลือกประกันสุขภาพและประกันชีวิต

การวางแผนเลือกประกันสุขภาพและประกันชีวิตให้เหมาะสมมาพร้อมกับหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณา แต่สามารถเริ่มต้นได้ง่าย ๆ จากการทำความเข้าใจก่อนว่า 'ประกันสุขภาพ' กับ 'ประกันชีวิต' ต่างกันอย่างไร และ ประกันแต่ละแบบตอบโจทย์ความต้องการด้านไหนของชีวิตได้บ้าง

มารู้จักความแตกต่างระหว่างประกันสุขภาพและประกันชีวิต พร้อมรู้จักเคล็ดลับการวางแผนประกันชีวิตและสุขภาพที่เหมาะสมกับผู้เชี่ยวชาญด้านวางแผนประกันภัยจาก Money Adwise กัน

 

รู้จักประกันสุขภาพ

ไม่ว่าจะดูแลสุขภาพจนแข็งแรงแค่ไหน หลายครั้งโรคภัยไข้เจ็บและปัญหาสุขภาพก็อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่ทันตั้งตัว ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้สุขภาพถดถอยเท่านั้น แต่ปัญหาสุขภาพนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงให้กับสุขภาพการเงินเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากการขาดรายได้ เนื่องจากไม่สามารถออกไปทำงานได้ ไปจนถึงความเสี่ยงที่จะต้องนำเงินเก็บออกมาใช้รักษาตัวแทนที่จะนำไปต่อยอดเพื่อเป้าหมายอื่นที่ต้องการ

‘ประกันสุขภาพ’ ถือเป็นหนึ่งในทางเลือกสำคัญที่สามารถเข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ และสุขภาพการเงินได้อย่างลงตัว โดยประกันสุขภาพ คือ ประกันภัยรูปแบบหนึ่งที่ผู้เอาประกันจะได้รับความคุ้มครองด้านค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ซึ่งนอกจากจะช่วยคุ้มครองด้านค่าใช้จ่ายที่มาพร้อมกับโรคภัยไข้เจ็บแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย

 

ประกันสุขภาพมีกี่ประเภท?

ประเภทของประกันสุขภาพที่แตกต่างกันมาพร้อมกับความคุ้มครองที่ไม่เหมือนกัน ทำให้ต้องพิจารณารายละเอียดให้ดีก่อนวางแผนเลือกประกันสุขภาพ ซึ่งในปัจจุบัน ประกันสุขภาพจะมีด้วยกันทั้งหมด 5 ประเภทหลัก ซึ่งจะมีรายละเอียดดังนี้

  1. ประกันสุขภาพผู้ป่วยใน (IPD) คุ้มครองในกรณีที่แพทย์มีคำวินิจฉัยให้รักษาตัวที่โรงพยาบาลติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง ส่วนใหญ่มักครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งค่าห้องและค่ารักษา หรือตามที่กำหนดในกรมธรรม์
  2. ประกันสุขภาพผู้ป่วยนอก (OPD) คุ้มครองในกรณีที่แพทย์มีคำวินิจฉัยว่าไม่ต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล มักครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งค่ายา ค่าตรวจ ค่าแพทย์ หรือตามที่กรมธรรม์กำหนด
    อย่างไรก็ดี อย่าลืมตรวจสอบถึงค่าใช้จ่ายที่ได้รับความคุ้มครองทั้งหมดอีกครั้ง เพราะการเจ็บป่วยบางกรณี หรือ ยาบางรายการก็อาจไม่ครอบคลุมในตัวประกันสุขภาพผู้ป่วยนอก
  3. ประกันสุขภาพโรคร้ายแรง (ECIR) คุ้มครองการรักษาโรคร้ายแรงตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ เช่น มะเร็ง สมองเสื่อม โรคหัวใจ อาการทางระบบประสาท ภาวะแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง ภาวะอวัยะล้มเหลว หรือ ภาวะร้ายแรงอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญและการรักษาเฉพาะที่ใช้เวลาและค่าใช้จ่ายสูงกว่าโรคทั่วไป
  4. ประกันอุบัติเหตุ (PA) คุ้มครองการรักษาในกรณีการเกิดอุบัติเหตุตั้งแต่การหกล้มเล็กน้อย มีดบาด ไปจนถึงอุบัติเหตุร้ายแรงที่เสี่ยงต่อการทุพพลภาพ หรือ เสียชีวิต
  5. ปประกันชดเชยรายได้ เป็นประกันสุขภาพที่บริษัทประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนรายวันให้ตามเงื่อนไขที่ระบุในกรมธรรม์เพื่อชดเชยรายได้ที่เสียไปจากการเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ผู้เอาประกันสามารถซื้อเป็นตัวเลือกเสริมกับประกันตัวอื่น หรือ ซื้อประกันชดเชยรายได้เฉพาะได้

 

เข้าใจประกันชีวิต

นอกจากจะเข้าใจถึงรายละเอียดของประกันสุขภาพแล้ว การจะตอบได้ว่า 'ประกันสุขภาพ' กับ 'ประกันชีวิต' ต่างกันอย่างไร ยังต้องอาศัยความเข้าใจเกี่ยวกับประกันชีวิตเช่นกัน

อย่างที่กล่าวไปว่า ‘ประกัน’ ถือเป็นหนึ่งในตัวช่วยบริหารความเสี่ยงในชีวิต ‘ประกันชีวิต’ เองก็เป็นตัวช่วยบริหารความเสี่ยงจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิต การสูญเสียรายได้ในยามชราและต้องการเงินสำหรับการเกษียณ ไปจนถึงทุพพลภาพ หรือ สูญเสียอวัยวะ

หลายคนอาจสงสัยว่า การซื้อประกันชีวิตนั้นสามารถช่วยบริหารความเสี่ยงในชีวิตได้อย่างไร คำตอบ คือ บริษัทประกันชีวิตจะเป็นผู้รับความเสี่ยงแทนผู้เอาประกัน โดยผู้เอาประกันจะเป็นผู้ชำระค่าเบี้ยประกันเพื่อซื้อความคุ้มครองที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ การเก็บเงินสำหรับการเกษียณ ไปจนถึงกรณีเสียชีวิต

หากวันใดเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นมา หรือ ผู้เอาประกันทำตามเงื่อนไขของประกันชีวิตครบ ‘บริษัทประกันชีวิต’ จะเป็นผู้จ่าย ‘เงินเอาประกันภัย’ ให้กับผู้รับผลประโยชน์ ซึ่งอาจเป็นผู้เอาประกันเอง ผู้รับผลประโยชน์ที่แต่งตั้งขึ้น หรือเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์

 

ถาม - ตอบ เรื่องประกันชีวิต!

คำถาม : “ไม่มีทายาท ควรซื้อประกันชีวิตไหม หรือ หากซื้อไปแล้ว ใครจะได้รับเงินเอาประกันภัย?”

คำตอบ : การทำประกันชีวิตจะสามารถระบุผู้รับผลประโยชน์ได้ถึง 5 แบบ ประกอบไปด้วย

  • ตนเอง
    การจะระบุชื่อตนเองเป็นผู้รับผลประโยชน์ บริษัทประกันชีวิตอาจมีการพิจารณาหลายปัจจัยร่วม ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงต่อผู้เอาประกันเอง ไปจนถึงอายุกรมธรรม์และอื่น ๆ ตามที่บริษัทร้องขอ
  • คู่รัก
    สามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรส หรือ หากไม่มีทะเบียนสมรสจะต้องมีหลักฐานแสดงความ
  • สมาชิกครอบครัว
    ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือด หรือ มีการจดทะเบียนรับรองอย่างถูกต้อง เช่น จดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรม
  • ผู้มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจ
    หากไม่มีทายาท ผู้เอาประกันสามารถกำหนดผู้มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจเป็นผู้รับผลประโยชน์ได้เช่นกัน ประกอบไปด้วยหุ้นส่วน เจ้าหนี้-ลูกหนี้ นายจ้าง-ลูกจ้าง
  • องค์กรการกุศล
    ผู้ที่ไม่มีทายาท นอกจากจะกำหนดผู้มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจเป็นผู้รับผลประโยชน์แล้ว ยังสามารถกำหนดวัด สภากาชาด หรือ องค์กรการกุศลที่ต้องการเป็นผู้รับผลประโยชน์ประกันชีวิตได้เช่นกัน

สรุปแล้ว แม้จะไม่มีทายาท ทุกคนก็สามารถซื้อประกันชีวิตเพื่อบริหารความเสี่ยงและระบุผู้รับผลประโยชน์ได้ตามต้องการ

 

ประกันชีวิตมีกี่ประเภท?

ปัจจุบันนี้ ประกันชีวิตมีการจัดประเภทที่ค่อนข้างหลากหลาย อีกทั้งยังมีการจัดกลุ่มที่แตกต่างกัน แต่หากจะให้ครอบคลุมมากที่สุด โดยหลัก ๆ แล้วประกันชีวิตจะแบ่งเป็น 5 ประเภทหลัก ดังนี้

  1. ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endowment Insurance) คุ้มครองความเสี่ยงในกรณีที่กำหนดในกรมธรรม์ ทั้งยังเป็นการสะสมทรัพย์ไปในตัว
  2. ประกันชีวิตแบบควบการลงทุน (Unit-linked Insurance) ได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ อีกทั้งยังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่บริษัทประกันจะแบ่งเบี้ยประกันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่กำหนด
  3. ประกันชีวิตแบบกำหนดเวลา (Term Insurance) เป็นประกันชีวิตที่จะได้รับผลโยชน์ในกรณีที่เสียชีวิตเท่านั้น หากยังมีชีวิตอยู่หลังจากที่ครบกำหนดของประกันชีวิตแล้วก็จะไม่ได้รับผลประโยชน์อะไร
  4. ประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นประกันชีวิตที่ระบุระยะเวลา หรือ อายุที่ต้องชำระเบี้ยประกัน เมื่อครบกำหนดก็จะได้รับเงินเป็นรายเดือน รายปี หรือตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ เป็นหนึ่งในประกันชีวิตที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้วางแผนเกษียณอายุ
  5. ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ รับความคุ้มครองได้ตลอดชีพ แม้จะไม่มีผลตอบแทนจากการลงทุน หรือ การสะสมทรัพย์ แต่ก็สามารถส่งต่อเป็นมรดกได้ มักเน้นการคุ้มครองชีวิตระยะยาว เช่น คุ้มครองถึงอายุ 85 หรือ 90 ปี ซึ่งหากมีชีวิตอยู่จนถึงอายุที่กำหนดก็จะได้รับเงินประกันภัยคืน

 

สรุปชัด! 'ประกันสุขภาพ' กับ 'ประกันชีวิต' ต่างกันอย่างไร

แม้จะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ทั้งคู่ แต่ประกันทั้งสองประเภทก็มาพร้อมกับเงื่อนไขความคุ้มครองในกรมธรรม์ที่แตกต่างกัน

โดยประกันสุขภาพจะให้ความคุ้มครองในกรณีการเจ็บป่วย การเกิดอุบัติเหตุ และการเสียชีวิต ดังนั้น การวางแผนเลือกประกันสุขภาพจึงควรโฟกัสไปที่กรณีการเจ็บป่วยที่คุ้มครองและค่าใช้จ่ายในการรักษาที่รองรับ

ในขณะที่ประกันชีวิตจะให้ความคุ้มครองในกรณีที่เสียชีวิต โดยการเลือกประกันชีวิตควรพิจารณาถึงความคุ้มครองที่สอดคล้องกับความเป็นจริงและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งหากเลือกทำประกันชีวิตในกรมธรรม์ที่สามารถสร้างผลตอบแทน หรือ สะสมทรัพย์ได้ก็จะได้รับประโยชน์จากส่วนนี้ในอนาคตเช่นกัน

 

เคล็ดลับการวางแผนประกันชีวิตและสุขภาพให้ตอบโจทย์

นอกจากการตรวจสอบเงื่อนไขความคุ้มครองในกรมธรรม์เพื่อเช็กถึงความจำเป็นและความคุ้มค่าที่จะได้รับแล้ว การวางแผนประกันชีวิตและสุขภาพที่มีประสิทธิภาพยังต้องพิจารณาถึง ‘สภาพคล่องทางการเงิน’ ร่วมด้วย เพราะหากมีเงินไม่เพียงพอไปชำระเบี้ยประกัน หรือ มีการผิดนัดชำระหลายครั้ง ก็อาจทำให้ไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือ ผลประโยชน์

โดยส่วนใหญ่แล้ว เบี้ยประกันสำหรับประกันสุขภาพและประกันชีวิตควรจะอยู่ที่ไม่เกิน 10% - 20% ของรายได้ทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อช่วยให้บริหารจัดการรายได้ไปเป็นทั้งเงินเก็บ เงินลงทุน รวมถึงเงินที่ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้อย่างลงตัว

 

อย่างไรก็ดี การทำประกันสุขภาพ หรือ ประกันชีวิตไม่ได้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่มีรายได้สูงเสมอไป แต่ยังเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการบริหารความเสี่ยงจากสุขภาพ อุบัติเหตุ และชีวิตเพื่อเสริมสร้างสุขภาพใจและสุขภาพการเงินที่แข็งแรงในอนาคต

ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการประกันภัย และ นักวางแผนทางการเงินที่ได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ CFP® จาก Money Adwise พร้อมช่วยคุณวางแผนประกันชีวิตและสุขภาพที่สอดคล้องกับสภาพคล่องทางการเงิน เลือกซื้อประกันสุขภาพและประกันชีวิตอย่างเข้าใจ รับความคุ้มครองและผลประโยชน์อย่างคุ้มค่า เพื่อเป็นตัวช่วยบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม นัดปรึกษาครั้งแรกฟรี!

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้