บุคคลธรรมดา VS นิติบุคคล มีเทคนิควางแผนภาษีธุรกิจต่างกันไหม?

เทคนิควางแผนภาษีธุรกิจบุคคลธรรมดา

หลายคนเชื่อว่า การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องจดทะเบียนธุรกิจเป็นนิติบุคคล เพราะนอกจากจะช่วยให้บริหารธุรกิจและจัดโครงสร้างองค์กรได้อย่างสะดวกแล้ว การจดทะเบียนธุรกิจเป็นนิติบุคคลยังมีเทคนิควางแผนภาษีที่ง่ายและแยกออกจากภาษีเงินได้ส่วนอื่นอย่างชัดเจน

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การจดทะเบียนธุรกิจเป็นนิติบุคคลจะสะดวกและช่วยประหยัดภาษีได้มากกว่าการจดทะเบียนธุรกิจแบบบุคคลธรรมดาหรือไม่ มีเรื่องใดที่ต้องพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจจดทะเบียนธุรกิจบ้าง บริษัทรับปรึกษาการวางแผนภาษี Money Adwise จะมาอธิบายให้ฟัง

ธุรกิจต้องเสียภาษีอะไรบ้าง?

ก่อนที่จะไปพิจารณาว่าควรเลือกจดทะเบียนและเสียภาษีธุรกิจแบบใดให้ประหยัดภาษีได้มากที่สุด เจ้าของธุรกิจต้องเข้าใจก่อนว่า ธุรกิจจำเป็นต้องเสียภาษีประเภทไหนบ้าง ทั้งนี้เพื่อช่วยให้เข้าใจค่าใช้จ่ายในธุรกิจและการเสียภาษีให้มากขึ้น

3 ประเภทภาษีที่ ‘ทุกธุรกิจ’ ต้องเจอ

ตามหลักแล้ว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทใดก็จะต้องเสียภาษีด้วยกันทั้งหมด 3 ประเภท ซึ่งจะประกอบไปด้วย

    1. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นภาษีที่ธุรกิจทำการหักไว้ล่วงหน้าเมื่อมีการจ่ายเงินออกไป สามารถขอคืนได้ภายหลัง เช่น หักภาษี ณ ที่จ่าย 3% เมื่อมีการจ้างวานให้บุคคลภายนอกทำงานให้
    2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ภาษีสำหรับธุรกิจที่มีรายได้ตั้งแต่ 1.8 ล้านบาท/ปี เก็บภาษีจากการให้บริการและจำหน่ายสินค้าในธุรกิจ ทั้งที่ผลิตภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ
    3. อากรแสตมป์ เป็นภาษีที่รัฐจัดเก็บขึ้นจากการทำตราสาร สัญญา และเอกสารแสดงสิทธิ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาจ้างทำของ สัญญาเช่าที่ดิน รวมไปถึงสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ และสัญญาร่วมลงทุน

2 ประเภทภาษีที่ ‘บางธุรกิจ’ ต้องชำระ

นอกจากภาษีทั้ง 3 ประเภทข้างต้นแล้ว ธุรกิจบางประเภทยังต้องมีเสียภาษีอื่น ๆ ตามเงื่อนไขและลักษณะธุรกิจด้วยเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะประกอบไปด้วย 2 ประเภท คือ

    1. ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นภาษีสำหรับธุรกิจเฉพาะ เช่น กิจการธนาคาร ธุรกิจประกันชีวิต ธุรกิจโรงรับจำนำ ธุรกิจเงินทุน ตลอดจนธุรกิจที่ให้บริการคล้ายกับธนาคารพาณิชย์ เช่น ธุรกิจให้กู้ยืมเงิน แลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศ รวมไปถึงธุรกิจรับส่งเงินไปต่างประเทศด้วยวิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมาย
    2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากนิติบุคคลสำหรับธุรกิจที่มีการจดทะเบียนเป็นบริษัท หรือห้างหุ้นส่วน มีด้วยกัน 2 แบบ ประกอบไปด้วย
      • แบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 50 ยื่นภายใน 150 วันหลังจากวันที่ปิดระบบบัญชี
      • แบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 51 ยื่นภายใน 2 เดือนหลังรอบบัญชีภาษีครึ่งปี

การจดทะเบียนธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา

การจดทะเบียนธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา เหมาะสำหรับเจ้าของธุรกิจที่เพิ่งเริ่มทำกิจการขนาดเล็ก หรือมีการร่วมลงทุนระหว่างบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปในลักษณะของ ‘ห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ได้จดทะเบียน’ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นหุ้นส่วนธุรกิจที่ตกลงทำธุรกิจและแบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน แต่หุ้นส่วนธุรกิจทุกคนจะมีสถานะเป็นบุคคลธรรมดา

การทำบัญชีธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา

เทคนิควางแผนภาษีธุรกิจบุคคลธรรมดาจะให้ความสำคัญกับการทำ ‘รายงานเงินสดรับ-จ่าย’ ที่แสดงถึงรายรับ รายจ่าย และผลประกอบการของธุรกิจทั้งหมด ซึ่งถือเป็นเอกสารสำคัญที่นำไปยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนั้น หากยิ่งมีการทำรายงานเงินสดรับ-จ่ายในธุรกิจที่ชัดเจนและครบถ้วนมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งวางแผนบริหารภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น

การวางแผนภาษีธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับธุรกิจที่ไม่ได้มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จะสามารถคำนวณภาษีได้ 2 วิธีหลัก คือ

    • วิธีที่ 1 : เงินได้สุทธิ = (เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี (ศึกษาอัตราภาษีและการบริหารค่าใช้จ่ายภาษีเพิ่มเติมได้ในบทความนี้)
    • วิธีที่ 2 : เงินได้พึงประเมิน = เงินได้ทุกประเภทรวมกัน x 0.5% (ไม่รวมเงินได้ประเภทที่ 1 และหากคำนวณแล้วได้เงินได้พึงประเมินไม่เกิน 5,000 บาท ให้เสียภาษีด้วยวิธีที่ 1)

สำหรับเจ้าของธุรกิจที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วยวิธีการแรก สามารถเลือกคำนวณ ‘ค่าใช้จ่าย’ ที่นำมาหักกับ ‘เงินได้’ ได้ 2 วิธีหลัก ประกอบไปด้วย

    • หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา ไม่ต้องใช้เอกสารพิสูจน์รายจ่าย
    • หักค่าใช้จ่ายตามจริง มีเอกสารพิสูจน์รายจ่ายให้สรรพากรตรวจสอบได้

การจดทะเบียนธุรกิจแบบนิติบุคคล

การจดทะเบียนธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา แม้จะมีความคล่องตัวสูง แต่ก็มาพร้อมกับความน่าเชื่อถือที่น้อยกว่า ส่งผลให้เสียเปรียบทั้งในการทำธุรกรรมทางการเงิน การขอสินเชื่อเพื่อดำเนินธุรกิจ ไปจนถึงการรับผิดชอบหนี้สินในธุรกิจทั้งหมด

ด้วยเหตุนี้ การจดทะเบียนธุรกิจแบบนิติบุคคลจึงสามารถเข้ามาช่วยตอบโจทย์ในด้านความน่าเชื่อถือของธุรกิจได้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยให้ธุรกิจแยกตัวออกจากเจ้าของและหุ้นส่วนในธุรกิจได้อย่างชัดเจนเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ธุรกิจเข้าถึงธุรกรรมทางการเงินและเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจได้อย่างสะดวก ทั้งยังช่วยให้บริหารหนี้สินในธุรกิจได้เป็นสัดส่วนตามมูลค่าที่ถือหุ้นอีกด้วย

การทำบัญชีธุรกิจแบบนิติบุคคล

การจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลสามารถทำได้ทั้งแบบห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน และห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล โดยเจ้าของธุรกิจและหุ้นส่วนทั้งหมดสามารถมาจดทะเบียนเพื่อจัดตั้งธุรกิจได้ที่ ‘กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์’

เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นธุรกิจแบบนิติบุคคลที่มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง ธุรกิจจำเป็นต้องจัดทำบัญชีตามมาตรฐาน ตลอดจนมีการรับรองบัญชีที่ถูกต้อง รวมไปถึงมีผู้ตรวจสอบบัญชีที่มีใบอนุญาตเป็นผู้ตรวจสอบ ซึ่งการทำบัญชีที่ถูกต้องนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นเอกสารสำหรับการยื่นภาษีเท่านั้น แต่ยังใช้เป็นเอกสารในธุรกรรมทางการเงินอื่น ๆ ได้อีกด้วย

การวางแผนภาษีธุรกิจแบบนิติบุคคล

ธุรกิจที่มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจะมีการคิดภาษีและคำนวณค่าใช้จ่ายที่แตกต่างจากธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา ทั้งยังมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาหลากหลายด้านมากกว่า

ตามหลักการแล้ว ธุรกิจแบบนิติบุคคลจะเสียภาษีโดยคำนวณจาก ‘กำไรสุทธิทางภาษี’ ซึ่งสามารถคำนวณได้จากการนำ ‘รายได้ทางภาษี’ มาหักลบกับ ‘ค่าใช้จ่ายทางภาษี’ จากนั้นจึงคูณด้วยอัตราภาษีตามสูตร ดังนี้

ภาษีธุรกิจนิติบุคคล = (รายได้ - ค่าใช้จ่าย) x อัตราภาษี

หมายเหตุ:

  • กำไรสุทธิทางภาษีไม่ใช่กำไรทางบัญชี ดังนั้น ธุรกิจจะต้องปรับปรุงโดยการคำนวณรายการทางภาษีเข้าไปด้วย เช่น รายได้ทางภาษี ค่าใช้จ่ายต้องห้าม รายได้ที่ได้รับการยกเว้น และค่าใช้จ่ายหักเพิ่ม
  • อัตราภาษีที่นำมาคูณจะมีระดับที่แตกต่างกันไป โดยหากเป็นนิติบุคคลทั่วไป อัตราภาษีจะอยู่ที่ 20% แต่สำหรับธุรกิจ SME จะมีการยกเว้น ลดหย่อน และคำนวณภาษีตามอัตราขั้นบันได สูงสุดไม่เกิน 20% เฉพาะในกรณีที่ธุรกิจมีทุนชำระน้อยกว่าหรือเท่ากับ 5 ล้านบาท และมีรายได้ที่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 30 ล้านบาท/ปี
  • หากธุรกิจขาดทุน หรือมีค่าใช้จ่ายทางภาษีสูงกว่ารายได้จำนวนมาก ธุรกิจจะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งยังสามารถนำผลขาดทุนไปหักกำไรในตอนคิดภาษีปีต่อไปได้สูงสุดถึง 5 ปีอีกด้วย

เทคนิควางแผนภาษีธุรกิจ! เจ้าของธุรกิจควรเลือกเสียภาษีธุรกิจแบบใด?

เทคนิควางแผนภาษีธุรกิจ หรือ Business Tax Planning คือ ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อทราบถึงการคำนวณภาษีที่แตกต่างกันของการจดทะเบียนธุรกิจแต่ละประเภทแล้ว เจ้าของธุรกิจจำนวนไม่น้อยอาจสงสัยว่า ควรจะจดทะเบียนธุรกิจและเลือกเสียภาษีธุรกิจแบบใดให้ตอบโจทย์ บริษัทรับปรึกษาการวางแผนภาษี Money Adwise ขอแนะนำให้ลองพิจารณารายละเอียดเบื้องต้นทั้งหมด 3 ด้าน ประกอบไปด้วย

1. กำไรที่เกิดขึ้นจริงในธุรกิจ

เพื่อพิจารณาถึงการดำเนินการของธุรกิจ ตลอดจน ‘ตัวเลข’ ที่ต้องนำมาคำนวณในการเสียภาษี

2. ยอดภาษีที่ต้องชำระ

เจ้าของธุรกิจหลายคนอาจเคยเห็นตัวอย่างว่า การจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมีการเสียภาษีที่น้อยกว่าธุรกิจแบบบุคคลธรรมดาที่มีการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา แต่ในความเป็นจริงแล้ว การคำนวณภาษีนิติบุคคลนั้นมีความซับซ้อนและมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาให้ละเอียดรอบด้าน แม้จะมีค่าใช้จ่ายที่นำมาหักลบได้หลายด้านมากกว่า แต่ตัวธุรกิจก็มาพร้อมกับต้นทุนในการดำเนินงานที่สูง ทั้งยังต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการทำบัญชีด้วยเช่นกัน ดังนั้น หลังจากคำนวณยอดภาษีที่ต้องชำระคร่าว ๆ แล้ว อย่าลืมพิจารณาถึงปัจจัยแวดล้อมร่วมด้วย

3. สิทธิประโยชน์ทางภาษี

ธุรกิจแบบบุคคลธรรมดาสามารถจะได้รับสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งในบางครั้งเมื่อคำนวณยอดภาษีทั้งหมดแล้ว อาจทำให้ยอดภาษีที่ต้องชำระมีน้อยกว่ายอดภาษีของธุรกิจที่มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลด้วย

ในขณะเดียวกัน ธุรกิจนิติบุคคลยังสามารถวางแผนภาษีได้อย่างหลากหลาย ทั้งยังสามารถนำรายจ่ายในส่วนธุรกิจมาคิดเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อลดภาษีได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนของกรรมการ การจ้างงาน และอื่น ๆ อีกมากมาย

ดังนั้น ก่อนที่จะจดทะเบียนธุรกิจทุกครั้ง อย่าลืมพิจารณาถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษีและการคำนวณค่าใช้จ่ายของธุรกิจให้ครบทุกด้านก่อนตัดสินใจด้วย

ธุรกิจแต่ละประเภทเหมาะสำหรับเจ้าของธุรกิจ เงินทุน และประเภทธุรกิจที่แตกต่างกันไป ทั้งยังส่งผลให้มีเทคนิควางแผนภาษีและคำนวณภาษีธุรกิจที่แตกต่างกันด้วย

สำหรับใครที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจเป็นของตัวเอง แต่ยังไม่มั่นใจว่าจะเลือกจดทะเบียนธุรกิจอย่างไรให้เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพคล่องทางการเงินและเป้าหมายทางการเงินอื่น ๆ Money Adwise ไม่เพียงแต่จะเป็นบริษัทให้คำปรึกษาการลดหย่อนภาษีส่วนบุคคลและธุรกิจเท่านั้น แต่ยังรับปรึกษาการวางแผนภาษีที่ถูกต้องโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนภาษีโดยตรง นัดปรึกษาครั้งแรกฟรี

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้