ประกันสุขภาพสำหรับผู้หญิงวัยทำงาน เลือกอย่างไรให้คุ้มค่า ?

ตัวแทนประกันกำลังแนะนำประกันสุขภาพให้ผู้หญิง

อาการเจ็บป่วยทางกาย เป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครก็ล้วนไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตัวเองและคนรอบข้าง เพราะนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายมหาศาล ยิ่งเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องใช้เวลารักษา ยิ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน การทำงาน รวมถึงสุขภาพจิต เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของประกันสุขภาพสำหรับผู้หญิง วันนี้ เราจึงมีโรคฮิตที่พบบ่อยในผู้หญิงไทย พร้อมเทคนิคการเลือกประกันสุขภาพสำหรับผู้หญิงวัยทำงานมาบอกกัน

โรคที่มักเกิดกับผู้หญิงและอาการที่ควรเฝ้าระวัง

แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายต่าง ๆ คือเหตุผลหลักที่ทำให้ประกันสุขภาพเป็นสิ่งที่ผู้หญิงหลายคนมองหา ซึ่งนอกจากโรคทั่วไปที่เกิดขึ้นได้กับทั้งผู้หญิงและผู้ชายแล้ว รู้ไหมว่ายังมีโรคที่มักเกิดกับผู้หญิงไทยอย่างเฉพาะเจาะจงด้วย ซึ่งจากสถิติ โรคที่มักเกิดกับหญิงไทย ได้แก่ 5 โรคนี้

1. โรคมะเร็งเต้านม

ข้อมูลจากกรมอนามัยเผยว่า ในปี 2565 มีผู้หญิงไทยป่วยโรคมะเร็งเต้านมสูงถึง 38,559 ราย และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่พบในผู้หญิงอายุ 60 ปีขึ้นไป รองลงมาคืออายุ 50-59 ปี และอายุ 40-49 ปี โดยในระยะแรก โรคมะเร็งชนิดนี้จะไม่แสดงอาการผิดปกติ สิ่งที่สามารถทำได้ คือการตรวจเต้านมด้วยตัวเองเป็นประจำทุกเดือน ทำได้ 3 วิธีด้วยกัน ได้แก่ การคลำแนวขึ้นลงจากกระดูกไหปลาร้าไปจนถึงด้านล่างของทรวงอก เริ่มคลำจากใต้รักแร้ไปจนถึงฐานของเต้านม แล้วขยับขึ้นลงจนทั่วทั้งเต้านม การคลำแนวก้นหอย เริ่มจากบริเวณลานหัวนมและวนเป็นก้นหอยไปจนถึงฐานเต้านม รักแร้ และไหปลาร้า การคลำแนวรูปลิ่ม เริ่มคลำจากลานหัวนมไปถึงฐานแล้วกลับขึ้นสู่ยอดจนทั่วทั้งเต้านม รวมถึงบริเวณรักแร้และไหปลาร้าด้วย

2. โรคมะเร็งปากมดลูก

โรคมะเร็งปากมดลูก เป็นโรคที่พบมากรองจากมะเร็งเต้านม ในปี 2565 มีผู้ป่วยมากถึง 12,956 ราย และมีอัตราผู้เสียชีวิตสูงถึง 7 รายต่อวัน ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ Human Papillomavirus หรือ HPV โดยเกิดบริเวณช่วงล่างของมดลูกที่เชื่อมต่อกับช่องคลอด ซึ่งเชื้อ HPV เป็นสาเหตุที่ทำให้เซลล์บริเวณนั้นเกิดความผิดปกติและกลายเป็นมะเร็ง โดยอาการเบื้องต้นของโรคมะเร็งชนิดนี้ คือ มีเลือดออกทางช่องคลอด ประจำเดือนผิดปกติ และมีตกขาวเยอะผิดปกติ ปัจจุบัน โรคมะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV ซึ่งประสิทธิภาพของวัคซีนก็ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ฉีดด้วย

3. โรคมะเร็งรังไข่

โรคมะเร็งชนิดถัดมาที่มักเกิดกับผู้หญิง ได้แก่โรคมะเร็งรังไข่ ส่วนใหญ่พบในผู้หญิงอายุ 40-60 ปี เป็นภาวะที่เซลล์มะเร็งเติบโตในรังไข่ ในระยะแรกมักไม่แสดงความผิดปกติใด ๆ โดยอาการเบื้องต้นของโรคนี้ ได้แก่ รู้สึกอึดอัดช่องท้อง เบื่ออาหาร อาหารไม่ย่อย คลำเจอก้อนเนื้อบริเวณท้องน้อย บางรายอาจมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อร่วมด้วย นอกจากนี้ยังทำให้มีภาวะประจำเดือนมาผิดปกติ เป็นตกขาว และมีเลือดออกจากช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุด้วย สามารถป้องกันได้โดยการตรวจภายในเป็นประจำทุกปี

4. โรคช็อกโกแลตซีสต์

อีกหนึ่งโรคที่เกิดขึ้นกับหญิงไทยจำนวนมาก สาเหตุหลักเกิดจากการที่เลือดประจำเดือนและเยื่อบุโพรงมดลูกที่ควรจะหลุดออกมาพร้อมประจำเดือน ไหลย้อนกลับไปฝังตัวที่บริเวณช่องท้อง ผนังมดลูก และรังไข่ แล้วค่อย ๆ เติบโตขึ้นจนกลายเป็นถุงน้ำ ทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังขณะเป็นประจำเดือน ซึ่งบางรายปวดรุนแรงถึงขั้นเป็นลม รวมทั้งมีอาการลำไส้แปรปรวน คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย

5. โรคช่องคลอดอักเสบ

ปิดท้ายโรคฮิตของผู้หญิงไทยด้วยโรคช่องคลอดอักเสบ มีสาเหตุหลักมาจากการลดลงของแบคทีเรียแลคโตบาซิไล ซึ่งแบคทีเรียชนิดนี้มีหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียชนิดอื่นที่ก่อให้เกิดโรคในช่องคลอด ผู้ที่เป็นโรคนี้จึงมีอาการตกขาวเยอะผิดปกติ คันบริเวณอวัยวะเพศ เกิดความระคายเคืองบริเวณปากช่องคลอด และรู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์

คู่มือเลือกประกันสุขภาพสำหรับผู้หญิง

จากข้อมูลของทั้ง 5 โรคฮิตที่มักเกิดกับผู้หญิงไทย ที่เราอธิบายไปในข้างต้น เชื่อว่าคงมีคนจำนวนมากเล็งเห็นความสำคัญของการทำประกันสุขภาพสำหรับผู้หญิงแล้วอย่างแน่นอน แต่หากยังไม่รู้ว่าจะเลือกอย่างไร เรามีคู่มือเลือกประกันสุขภาพสำหรับผู้หญิงวัยทำงานและวัยอื่น ๆ มาฝากกัน

1. คุ้มครองครอบคลุมโรคที่พบบ่อยในเพศหญิง

สิ่งแรกที่ควรคำนึงถึงก่อนเลือกประกันสุขภาพสำหรับผู้หญิง คือต้องคุ้มครองครอบคลุมโรคร้ายแรงต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคที่พบบ่อยในเพศหญิง เพื่อสร้างความอุ่นใจว่าหากตรวจพบโรคร้ายที่มาพร้อมค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ อย่างน้อยก็ยังมีบริษัทประกันช่วยรับภาระ ทำให้คุณสามารถไปโฟกัสกับการรักษาและพักฟื้นได้อย่างเต็มที่

2. เลือกแผนประกันที่มีการจ่ายเงินชดเชย

แม้จะเป็นช่วงพักรักษาตัวจากอาการป่วย แต่รายจ่ายในแต่ละวันยังเดินหน้าอยู่ตลอด ดังนั้น ปัจจัยข้อต่อมาที่ควรพิจารณาก่อนซื้อประกัน คือควรเลือกแผนประกันที่มีการจ่ายเงินชดเชยในกรณีที่ต้องนอนโรงพยาบาลและไม่สามารถทำงานได้ เพื่อไว้ใช้จ่ายในเรื่องที่จำเป็นและไม่ต้องกระทบกับเงินเก็บ

3. คุ้มครองทั้งการรักษาแบบ OPD และ IPD

สุดท้าย แนะนำให้เลือกประกันสุขภาพสำหรับผู้หญิงที่คุ้มครองครอบคลุมทั้งการรักษาแบบ OPD หรือผู้ป่วยนอก ไปตรวจแล้วกลับบ้านได้โดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล และการรักษาแบบ IPD หรือผู้ป่วยใน ที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเกิน 6 ชั่วโมงขึ้นไป เผื่อในกรณีที่เจ็บป่วยเล็กน้อย จะได้ไม่ต้องรับภาระค่ารักษาเอง

 

ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ ทำงานอะไร หรือเป็นเพศใดก็ตาม อย่ารอจนเกิดวิกฤตสุขภาพขึ้นกับตัวเอง วางแผนเลือกประกันสุขภาพที่ความคุ้มครองตอบโจทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อสร้างทางออกฉุกเฉินตั้งแต่วันนี้ สนใจวางแผนประกันชีวิตและประกันสุขภาพอย่างครอบคลุม เพื่อบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและนักวางแผนการเงินที่ได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ CFP® ของ Money Adwise ลงทะเบียนนัดปรึกษาครั้งแรก ไม่มีค่าใช้จ่าย

ข้อมูลอ้างอิง

  1. กรมอนามัย เผยหญิงไทยป่วยมะเร็งเต้านมสูงสุด แนะควรตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 จาก https://multimedia.anamai.moph.go.th/news/140366/ 
  2. โรคยอดฮิตของ ผู้หญิง. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 จาก https://www.sikarin.com/health/
  3. โรคยอดฮิตของ-ผู้หญิง 3โรคภายในผู้หญิงที่ต้องระวัง. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 จาก https://bangpakok3.com/care_blog/view/256 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้