ลงทุนกองทุนรวม RMF และ SSF ตอนอายุ 40 จะสายเกินไปไหม?

ลงทุนกองทุนรวม RMF และ SSF ตอนอายุ 40 ได้ไหม

ผู้เขียน จิณณรักษ์ เจตน์รังสรรค์ CFP®

เมื่อเริ่มต้นทำงานได้ไม่นาน คนส่วนใหญ่อาจยังไม่มั่นใจที่จะเริ่มลงทุนด้วยหลาย ๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายรอบด้าน ภาระทางครอบครัว รวมไปถึงภาระหนี้สินจากการซื้อบ้านและรถยนต์

แต่เมื่อทำงานไปหลายปีจนเริ่มมีเงินเก็บมากพอที่จะสามารถแบ่งมาลงทุนได้ตอนอายุ 40 หลายคนก็คงสงสัยอยู่ไม่น้อยว่า หากต้องการเริ่มต้นลงทุนกองทุนรวมอย่าง RMF และ SSF ตอนอายุย่างเข้าเลข 4 นี้ ยังจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ต้องการ รวมถึงได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอยู่หรือไม่ หากใครสงสัยเหมือนกันอยู่ ที่ปรึกษาช่วยวางแผนการลงทุนจาก Money Adwise มีคำตอบ!

 

รู้จัก RMF ก่อน

จากรายงานพฤติกรรมการวางแผนเก็บเกษียณอายุของคนไทยปีพ.ศ. 2562 จาก Gobear Financial Health Index พบว่า คนไทยเริ่มสนใจวางแผนเกษียณตอนอายุ 32 ปี และจะเริ่มลงมือเก็บเงินเพื่อการเกษียณจริง ๆ เมื่ออายุประมาณ 41 ปีจากหลายเหตุผล 

อย่างไรก็ดี แม้ตัวเลข 40 จะเป็นอายุที่ดูมากในสายตาของใครหลายคน แต่หากเริ่มต้นวางแผนการเงินและลงทุนเพื่อการเกษียณตั้งแต่วันนี้ โอกาสในการมีเงินมากเพียงพอเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายในการเกษียณทั้งหมดก็มีมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งหากที่ทำงานของใครไม่ได้มีการจัดเตรียมกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) เอาไว้ให้ก็สามารถเริ่มต้นแผนเกษียณของตัวเองได้จากการลงทุนกองทุนรวมอย่าง RMF เช่นเดียวกัน

 

RMF คืออะไร เงื่อนไขเป็นอย่างไร?

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund) หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อของ RMF คือ กองทุนที่นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนเพื่อจุดประสงค์ในการออมเงินระยะยาวและนำมาใช้จ่ายในยามเกษียณได้ และเพื่อที่จะรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและสามารถขายคืนสินทรัพย์ได้ นักลงทุนจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขหลัก 3 ข้อ ดังนี้

  1. จะต้องลงทุน RMF ไม่น้อยกว่า 5 ปี และเมื่ออายุครบ 55 ปีจึงจะสามารถขายคืน รวมถึงรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ทั้งการลดหย่อนภาษี และการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้จากกำไรการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain)
  2. ต้องลงทุน RMF ทุกปี สามารถเว้นการลงทุนได้ไม่เกิน 1 ปีติดต่อกัน หรือ ได้รับการยกเว้น เช่น ไม่มีรายได้ 
  3. ไม่มีการกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำต่อปี ซึ่งจะแตกต่างจากสมัยก่อนที่ผู้ลงทุนจะต้องลงทุน RMF ขั้นต่ำ 3% และสูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และเมื่อรวมกับการลงทุนอื่น ๆ อย่างกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ กบข. เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ และการลงทุนอื่น ๆ ตามเงื่อนไขแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งหากซื้อ RMF และมีมูลค่าเกินกำหนด นักลงทุนจะต้องนำกำไรที่ได้จากการขายคืนเฉพาะส่วนเกินไปรวมกับเงินได้ประเภทที่ 8 เพื่อเสียภาษี

อย่างไรก็ดี แม้การลงทุน RMF นั้นเป็นการลงทุนกองทุนรวม แต่นักลงทุนเองก็ยังสามารถลงทุนกองทุนรวม RMF ได้หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหุ้นไทย กองทุนหุ้นต่างประเทศ รวมไปถึงกองทุนตราสารหนี้ไทยและทั่วโลก ตลอดจนกองทุนรวมประเภทอื่น ๆ ตามที่สนใจ นอกจากนี้ นักลงทุนยังสามารถเลือกลงทุน RMF ได้ตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำ - กลาง - สูง และปรับเปลี่ยนการลงทุนได้อย่างยืดหยุ่นอีกด้วย

นอกจากนี้ แม้จะไม่สามารถถอนเงินออกมาใช้ได้ แต่การลงทุน RMF อย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปียังทำให้เงินต้นในการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผลตอบแทนที่ได้รับจะสะสมทบขึ้นไปเรื่อย ๆ ซึ่งอาจทำให้สร้างผลตอบแทนสูงขึ้น และมีเงินก้อนเพียงพอต่อความต้องการหลังเกษียณนั่นเอง 

จะเห็นได้ว่า หากยิ่งเข้าลงทุน RMF ได้เร็วเท่าไหร่ นอกจากจะมีเงินต้นและผลตอบแทนสะสมสูงขึ้นแล้ว นักลงทุนยังสามารถได้รับประโยชน์ทางภาษีอย่างต่อเนื่องอีกด้วย ซึ่งต่อให้เริ่มลงทุนตอนอายุ 40 ปีก็ยังสามารถสร้างผลตอบแทนเพื่อเป้าหมายเกษียณได้เช่นกัน

 

เข้าใจ SSF ร่วมด้วย

การไปสู่เป้าหมายเกษียณอายุอาจไม่ได้มีเพียงแค่การเลือกลงทุนกองทุนรวมและสินทรัพย์ที่สนใจใน RMF เสมอไป แต่นักลงทุนที่อายุย่างเข้าเลข 4 ยังสามารถวางแผนการออมเงินระยะยาวผ่านการลงทุนใน SSF ได้เช่นกัน

 

SSF คืออะไร เงื่อนไขเป็นอย่างไร?

กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (Super Saving Funds) หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อของ SSF เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการออมเงินระยะยาวที่นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ในสินทรัพย์ทุกประเภท ทุกความเสี่ยงทั้งในไทยและต่างประเทศเช่นเดียวกับ RMF แต่จะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ดังนี้

  1. สามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ทั้งแบบจ่ายเงินปันผล และ แบบไม่จ่ายเงินปันผลได้ ซึ่งกำไรจากการขายคืนสำหรับการลงทุน SSF แบบที่ไม่จ่ายปันผลจะได้รับยกเว้นภาษี แต่จะต้องเสียภาษี ณ ที่จ่าย 10% 
  2. ไม่มีการกำหนดจำนวนขั้นต่ำในการซื้อต่อปี ไม่บังคับซื้อต่อเนื่อง แต่ต้องถือไม่น้อยกว่า 10 ปี
  3. ซื้อได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ทั้งปี และเมื่อรวมกับการลงทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ เช่น RMF ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  4. สามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ และไม่เกิน 200,000 บาท ลดหย่อนได้แบบปีต่อปี ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2563-2567

หากนักลงทุนทำผิดเงื่อนไข ไม่เพียงแต่จะต้องคืนเงินภาษีที่เคยได้รับการลดหย่อนเท่านั้น แต่ยังต้องจ่ายเงินค่าปรับเพิ่มเดือนละ 1.5% ของจำนวนเงินที่ได้รับการลดหย่อนภาษีอีกด้วย นอกจากนี้ การซื้อ SSF เกินมูลค่าที่กำหนดยังต้องนำกำไรที่ได้ไปรวมเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 เพื่อเสียภาษีต่อไปอีกด้วย

การลงทุน SSF ถือเป็นอีกหนึ่งการลงทุนที่ตอบโจทย์ทั้งการลดหย่อนภาษี ออมเงิน รวมถึงการลงทุนแบบครบจบได้ในที่เดียว ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกการลงทุนที่ช่วยตอบโจทย์แผนเกษียณในอายุ 40 ได้

 

รู้หรือไม่?

หลายคนอาจสับสนระหว่างการลงทุน SSF และ LTF ซึ่งการลงทุนทั้ง 2 ประเภทนี้ แม้จะมีเป้าหมายเพื่อการออมเงินระยะยาวเหมือนกัน แต่ LTF นั้นจะเป็นการลงทุนกองทุนรวมระยะยาวที่จะเน้นไปที่หุ้นไทยเป็นส่วนมาก ซื้อได้ไม่เกิน 15% ของเงิน และรวมกับการลงทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ต้องมีมูลค่าไม่เกิน 500,000 บาท และถือไม่น้อยกว่า 7 ปีปฏิทิน อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันนี้ LTF จะไม่สามารถทำการซื้อได้แล้ว ส่วน SSF ยังเป็นการลงทุนที่ยังสามารถทำการซื้อขายและนำมาลดหย่อนภาษีได้

 

 

 

เคล็ด(ไม่)ลับลงทุนกองทุนรวม RMF และ SSF เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ต้องการในวัย 40

หากยังไม่แน่ใจว่าจะวางแผนเกษียณแบบฉบับมนุษย์เงินเดือนตอนอายุ 40 ได้อย่างไร ทุกคนสามารถเริ่มต้นได้ง่าย ๆ ตามเคล็ดลับที่ผู้เชี่ยวชาญรับดูแลและช่วยวางแผนการลงทุนจาก Money Adwise นำมาฝาก ดังนี้

 

1. กำหนดเป้าหมายทางการเงินของตัวเองให้ชัดเจน

ชีวิตหลังการเกษียณอายุอาจเป็นชีวิตที่ใครหลายคนอาจไม่สามารถทำงานเพื่อสร้างรายได้ในจำนวนที่มากเหมือนอย่างเคยได้ ดังนั้น เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายในชีวิตอย่างรอบด้าน ทุกคนจึงควรเริ่มจากการกำหนดอายุที่ต้องการเกษียณ ทำรายรับรายจ่ายเพื่อมองหาช่องทางในการเก็บเงิน ซึ่งถือเป็นวิธีออมเงินแบบมนุษย์เงินเดือนเบื้องต้นที่ทุกคนสามารถทำได้ง่าย ๆ 

จากนั้นจึงคำนวณเงินในส่วนที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตแบบรอบด้าน ซึ่งจะรวมไปถึงความเสี่ยงในด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ อุบัติเหตุ รวมถึงการเสียชีวิต และความสุขในแง่มุมต่าง ๆ สุดท้ายจึงคำนวณควบคู่ไปกับมูลค่าเงินที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละปี 

และเมื่อได้เงินที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตหลังเกษียณทั้งหมดแล้ว ทีนี้ก็ถึงเวลาวางแผนการเงินให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ต้องการ ทั้งนี้เพื่อเป็นการดูค่าใช้จ่ายในชีวิตและเป็นการคำนวณถึงต้นทุนที่สามารถนำมาลงทุนได้โดยไม่ทำให้สภาพคล่องทางการเงินมีปัญหา

 

2. เลือก RMF และ SSF ให้เหมาะสมกับเป้าหมายทางการเงิน

นักลงทุนสามารถเลือกการลงทุน RMF และ SSF ได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนกองทุนรวม หุ้น ตราสารหนี้ และสินทรัพย์ที่สนใจตัวอื่น ๆ อย่างไรก็ดี ขอแนะนำให้เลือกสินทรัพย์การลงทุนโดยพิจารณาจากความเสี่ยงที่รับไหว ผลประโยชน์ทางภาษี ควบคู่ไปกับโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่สอดคล้องกับเป้าหมายทางการเงินที่ตั้งเอาไว้ ซึ่งหากใครยังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มลงทุนอย่างไร สามารถจัดพอร์ตการลงทุนเบื้องต้นได้ตามสูตรนี้

 

100 - อายุในปัจจุบัน = % ทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงสูงที่สามารถลงทุนได้

 

เช่น หากตอนนี้อายุ 40 ปี ก็เท่ากับว่า เราสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงได้ถึง 60% ของเงินทุน ซึ่งการจัดพอร์ตเช่นนี้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการ รวมถึงความเหมาะสมของสถานการณ์ได้ในอนาคต เช่น หากตนเองสามารถรับความเสี่ยงได้สูงขึ้น ก็สามารถจัดพอร์ตลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงได้เพิ่มขึ้น เป็นต้น

 

3. เลือกกลยุทธ์การลงทุนให้ตอบโจทย์

การบริหารพอร์ตที่มีประสิทธิภาพเป็นอีกหนึ่งหนทางที่นำไปสู่การสร้างผลตอบแทนที่ตอบโจทย์ ซึ่งสำหรับใครที่สนใจการลงทุนกองทุนรวม ที่เป็นการลงทุน RMF และ SSF โดยพื้นฐานแล้วสามารถลองปรับใช้กลยุทธ์การลงทุนได้ 2 แบบ ดังนี้

  • DCA หรือ Dollar-Cost Averaging เป็นกลยุทธ์ช่วยถัวเฉลี่ยต้นทุนการลงทุน โดยนักลงทุนจะต้องลงเงินลงทุนในจำนวนเท่า ๆ กันในทุกช่วงเวลาที่กำหนด  
  • Asset Allocation เป็นกลยุทธ์การลงทุนที่จะกระจายความเสี่ยงไปยังหลาย ๆ สินทรัพย์ เพื่อสร้างผลตอบแทนจากหลายช่องทาง 
  • แต่ไม่ว่าจะเลือกใช้กลยุทธ์การลงทุนรูปแบบไหน สิ่งสำคัญที่นักลงทุนวัยย่าง 40 ควรพิจารณาให้ดี คือ การปรับพอร์ตการลงทุน หรือ Rebalancing อยู่เสมอ ทั้งนี้เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบด้าน พร้อมสร้างผลตอบแทนที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ นั่นเอง

 

จบลงไปแล้วกับการวางแผนลงทุน RMF และ SSF ที่นำมาฝาก หวังว่ารายละเอียดทั้งหมดจะสามารถช่วยวางแผนการลงทุนและการเงินให้คนวัย 40 ได้อุ่นใจกันมากขึ้น ซึ่งสำหรับใครที่ยังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มต้นวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างไรให้สามารถสร้างผลตอบแทนเพื่อไปสู่เป้าหมายการเกษียณอายุที่ต้องการได้ Money Adwise มาพร้อมบริการที่ปรึกษาด้านการลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ ครอบคลุมการลงทุนทุกประเภททั้ง RMF และ SSF เพื่อทุกเป้าหมายทางการเงินที่ต้องการ ให้คำปรึกษาฟรีครั้งแรกโดยนักวางแผนการเงินที่ได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ CFP® นัดปรึกษาได้ทันที!

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้