อยากย้ายการลงทุน PVD เพื่อการเกษียณไป RMF ต้องเข้าใจอะไรบ้าง?

วางแผนเกษียณยังไง ย้ายมาลงทุน RMF ดีไหม

ผู้เขียน จิณณรักษ์ เจตน์รังสรรค์ CFP®

การทำงานหนักในวันนี้ทำให้หลายคนสงสัยว่า ควรจะวางแผนเกษียณยังไงให้ตอบโจทย์กับทุกค่าใช้จ่ายในวันที่ไม่ได้ทำงานแล้ว ซึ่งนอกจากการวางแผนการเงินสำหรับชีวิตหลังเกษียณ ตลอดจนการหาวิธีคิดเงินหลังเกษียณแล้ว การบริหาร Provident Fund หรือ PVD ที่เป็นสวัสดิการการลงทุนจากการทำงานก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ควรใส่ใจ

ในปัจจุบันนี้ เมื่อต้องการเกษียณอายุ หรือ ออกจากงานด้วยเหตุผลส่วนตัว ลูกจ้างอย่างเรา ๆ ยังสามารถนำเงินจาก Provident Fund ไปลงทุนต่อใน RMF เพื่อสร้างผลตอบแทนอย่างต่อเนื่องได้เช่นกัน แต่การย้าย PVD ไปลงทุนใน RMF จะมีประโยชน์กับแผนเกษียณมากน้อยแค่ไหน มีเรื่องใดที่ต้องระวัง วันนี้นักวางแผนการลงทุนเพื่อการเกษียณจาก Money Adwise มีคำตอบ

 

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) คืออะไร?

การทำงานแต่ละแห่งมาพร้อมสวัสดิการที่แตกต่างกันออกไป โดยนายจ้างบริษัทเอกชนชั้นนำหลายแห่งได้มีการจัดตั้ง “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” (Provident Fund : PVD) ขึ้นมาเพื่อเป็นหลักประกันให้กับลูกจ้างในวันที่ต้องเกษียณอายุ หรือ ออกจากงาน

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่าง Provident Fund จะมีเงินลงทุนมาจาก 2 ส่วน คือ “เงินสะสม” จากทางลูกจ้าง และ “เงินสมทบ” จากทางนายจ้าง ซึ่งจำนวนเงินที่นำมาลงทุนนี้จะแตกต่างไปตามเงื่อนไขของแต่ละบริษัท

เมื่อรวมเงินและจัดตั้งเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว บริษัทที่ทำงานจะจัดหา “บริษัทจัดการ” มาเพื่อบริหารกองทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนต่อไป ซึ่งการลงทุนในส่วนนี้ก็จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของกองทุน โดยลูกจ้างสามารถตรวจสอบได้จากหนังสือชี้ชวนที่ได้รับจากทางบริษัท

ดังนั้น หากมองภาพรวมแล้ว ผลตอบแทนที่ลูกจ้างจะได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะมีด้วยกัน 3 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นเงินออมสะสม ส่วนที่เป็นเงินสมทบจากนายจ้าง และผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนของตัวกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทำให้การลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการวางแผนการเงินสำหรับหลังเกษียณที่มีประสิทธิภาพอย่างหนึ่งเลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี ลูกจ้างสามารถเลือกได้ว่าจะร่วมลงทุนกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทหรือไม่ แต่สำหรับลูกจ้างที่เข้าร่วมลงทุน นายจ้างจะมีการกำหนดเงื่อนไขในการถอน หรือ ขายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เช่น กำหนดระยะเวลาทำงาน หรือเงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่กำหนดไว้ในกองทุน

หมดสงสัย!

กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการออมของผู้ทำอาชีพราชการ แต่จะแตกต่างจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) ตรงที่ กบข. จะเปิดโอกาสให้ผู้ทำอาชีพราชการเลือกได้ว่าจะรับเป็นเงินบำนาญ หรือ บำเหน็จ ซึ่งถือเป็นสวัสดิการเพิ่มเติมจากการได้รับเงินบำเหน็จ หรือ บำนาญจากกรมบัญชีกลาง

 

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund) คืออะไร?

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF) คือ การลงทุนเพื่อการเกษียณรูปแบบของกองทุน มีจุดประสงค์เพื่อการออมเงินระยะยาว ทั้งยังมอบสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี และที่สำคัญ นักลงทุนยังสามารถเลือกสินทรัพย์ที่ต้องการลงทุนได้ตามความเสี่ยงและเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งจะแตกต่างจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ทางบริษัทจัดเตรียมไว้ให้ทั้งหมดแล้ว

การลงทุน RMF มีเงื่อนไขว่า ผู้ลงทุนจะต้องลงทุนใน RMF อย่างน้อย 5 ปี และจะสามารถขายคืนเมื่ออายุครบ 55 ปี โดยนักลงทุนจะต้องลงทุน RMF เป็นประจำทุกปี สามารถเว้นการลงทุนได้ไม่เกิน 1 ปี เว้นแต่จะได้รับการยกเว้น ซึ่งหากนักลงทุนละเมิด หรือ ไม่ปฎิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวก็จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี อีกทั้งผลตอบแทนที่ผ่านมายังต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีอีกด้วย

การลงทุน RMF ถือเป็นการลงทุนระยะยาวที่มุ่งเน้นให้ผู้ลงทุนมีเงินใช้ในยามเกษียณอายุ ซึ่งถึงแม้จะไม่สามารถถอนเงินออกมาใช้ได้ แต่การเพิ่มการลงทุนเข้าไปเรื่อย ๆ เพื่อเพิ่มต้นทุนในการลงทุนก็เป็นการเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่มากขึ้นได้เช่นกัน

 

2. ทำไมถึงควรย้าย PVD มา RMF

เมื่อชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงจนทำให้ต้องเปลี่ยนงานใหม่ หรือ ใครที่ถึงอายุที่ต้องเกษียณจากการทำงานแล้ว บ่อยครั้งก็จะไม่สามารถลงทุนกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อได้ เนื่องจากไม่มีสวัสดิการรองรับ หรือหากยังคงการลงทุนเอาไว้ที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ ก็อาจมาพร้อมกับค่าธรรมเนียมคงไว้ปีละ 500 บาท จะถอนออกก็ยังศึกษาเงื่อนไขทางภาษีและเสียภาษีให้ถูกต้อง แถมเจ้าของเงินยังจะไม่สามารถเลือกสินทรัพย์การลงทุนที่ต้องการได้อีก

ด้วยเหตุนี้ เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีและผลตอบแทนที่ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และเพื่อเป็นการสร้างผลตอบแทนในการวางแผนการเงินสำหรับหลังเกษียณ พร้อมรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้จาก RMF หลาย ๆ คนจึงตัดสินใจย้ายการลงทุนจากองทุนสำรองเลี้ยงชีพมายัง RMF ในสินทรัพย์การลงทุนที่สนใจและตรงกับเป้าหมายทางการเงินที่ต้องการ

โดยลูกจ้างที่สนใจจะย้ายการลงทุนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไป RMF ก็สามารถดำเนินตามขั้นตอน ดังนี้

  1. แจ้งความประสงค์กับทางนายจ้างได้ภายใน 30 วันนับจากวันที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง
  2. ติดต่อบริษัทจัดการกองทุนที่สนใจเพื่อลงทุน RMF และเลือกลงทุนใน RMF ที่ระบุว่าเป็น “RMF for PVD” หรือระบุในหนังสือชี้ชวนว่าเป็นการลงทุนที่รองรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  3. ระบุ RMF กับทางนายจ้าง และนำเอกสารจากบริษัทจัดการกองทุนมายื่นต่อกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เพียง 3 ขั้นตอนก็สามารถย้ายการลงทุนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยัง RMF ได้แล้ว นอกจากนี้ การโอนเงินลงทุนในส่วนนี้ยังไม่มีค่าธรรมเนียม และการลงทุน RMF เองก็ไม่ต้องเสียค่าสมาชิกรายปี ทำให้ได้รับผลตอบแทนที่เต็มจำนวนขึ้น

 

 

3. ข้อควรรู้ก่อนย้าย PVD มาลงทุน RMF

แม้จะสะดวกและตอบโจทย์การลงทุนเพื่อการเกษียณ แต่ก่อนจะตัดสินใจย้ายการลงทุนจากองทุนสำรองเลี้ยงชีพมา RMF นักลงทุนยังต้องพิจารณาเงื่อนไขอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังนี้

  1. เมื่อตัดสินใจย้ายการลงทุนไปยัง RMF แล้วจะไม่สามารถย้ายกลับมาลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ แต่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพอาจมีนโยบายให้สมาชิกเลือก (Employee’s choice) จัดสัดส่วนการลงทุนได้ ดังนั้น อย่าลืมศึกษารายละเอียดในส่วนนี้ให้ดีก่อนตัดสินใจย้ายการลงทุน
  2. การลงทุน RMF ที่ย้ายมากองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะต้องเปิดบัญชีลงทุนใหม่ ซึ่งจะแยกจากบัญชีลงทุน RMF ทั่วไป
  3. กรณีย้ายการลงทุนเมื่ออายุน้อยกว่า 55 ปี นักลงทุนควรถือครองให้ครบเงื่อนไขของ RMF (ลงทุนครบ 5 ปีและอายุครบ 55 ปี) เพื่อป้องกันการผิดเงื่อนไข เสียค่าปรับ หรือรับบทลงโทษเกี่ยวกับภาษี
  4. กรณีย้ายการลงทุนเมื่ออายุเกิน 55 ปี ขอแนะนำให้ตรวจสอบเงื่อนไขการขายคืนและเงื่อนไขทางภาษีให้ครบ

 

4. เลือกลงทุน RMF อย่างไรให้ตอบโจทย์

เมื่อต้องการเกษียณอายุ หลายคนมักสงสัยว่า รายได้หลังเกษียณนั้นได้แก่อะไรบ้าง ซึ่งนอกจากจะเป็นเงินปันผลและดอกเบี้ยแล้ว ทุกคนยังสามารถสร้างรายได้จากการลงทุนเพื่อการเกษียณอย่าง RMF

โดยกองทุนรวม RMF เป็นอีกหนึ่งการลงทุนที่นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้อย่างหลากหลาย มีให้เลือกลงทุนหลายกอง สลับการลงทุนได้ตามต้องการ ทั้งยังมาพร้อมกับความเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไป แต่เพื่อให้เลือกลงทุนในกองทุนที่ตอบโจทย์ความต้องการ นักลงทุนควรเตรียมตัว ดังนี้

  1. กำหนดเป้าหมายการลงทุน แม้จะเป็นหลังการเกษียณก็ตาม เช่น ลงทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในบ้าน หรือ ลงทุนเพื่อเป็นมรดกให้กับลูกหลาน
  2. กำหนดระยะเวลาที่ต้องการเห็นผลลัพธ์ เพื่อเลือกกองทุน RMF ที่เหมาะสมทั้งในแง่ของผลตอบแทนและความเสี่ยง
  3. วางแผนการลงทุนอย่างรัดกุม ปรับกลยุทธ์การลงทุนอยู่เสมอ เช่น ปรับสมดุลพอร์ตอยู่ตลอดเวลา มีการทำ Asset Allocation เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ตามการเปลี่ยนแปลงของตลาด
  4. อย่าลืมวางแผนการเงินร่วมด้วย เพราะหากแผนการลงทุนขาดทุนขึ้นมาก็จะไม่ทำให้สภาพคล่องทางการเงินมีปัญหา

 

นอกจากการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและ RMF แล้ว การวางแผนการเงินและการลงทุนหลังเกษียณยังมีความเสี่ยงที่ต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ สุขภาพ การเสียชีวิต ไปจนถึงการบริหารจัดการเงินเพื่อประโยชน์ของตัวเอง คนรอบข้าง และช่วยรองรับเหตุไม่คาดฝันมากมาย

ดังนั้น เพื่อเป็นการวางแผนเกษียณได้อย่างรัดกุมทุกความเป็นไปได้ การปรึกษาการลงทุนและการเงินเพื่อการเกษียณจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม หากยังไม่แน่ใจจะวางแผนเกษียณยังไง ปรึกษานักวางแผนทางการเงินที่ได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ CFP® จาก Money Adwise เพื่อรับแผนเกษียณที่เหมาะกับคุณได้ทันที ปรึกษาครั้งแรกฟรี นัดปรึกษาได้ที่นี่

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้