9 ข้อวางแผนกองทุนเกษียณเมื่อวัย 50

9 ข้อวางแผนกองทุนเกษียณเมื่อวัย 50

ผู้เขียน รัฐพล วชิรเมฆากุล CFP®

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่อายุ 50 แล้ว และยังไม่เคยวางแผนกองทุนเกษียณ หรืออาจมีแผนแต่ไม่ได้ลงมืออย่างจริงจัง ตอนนี้ถึงเวลาที่จะเอาแผนเดิมทิ้งไป และมาทบทวนวางแผนใหม่กัน เชื่อเถอะว่าคุณยังมีเวลาเหลือๆ และมีหลายสิ่งที่ทำได้มากมาย มาดูกันว่าเพื่อชีวิตเกษียณดีๆของเราในอีก 10 ปีข้างหน้าแบบ Step-by-Step เราควรทำอะไรกันบ้าง

1. อยู่ห่างๆเครื่องคิดเลขทางการเงิน หรือโปรแกรมคำนวณแผนเกษียณ

การเริ่มต้นวางแผนกองทุนเกษียณของคุณในวัย 50 มีหลายสิ่งที่ต้องลงมือทำอยู่แล้ว จากประสบการณ์ของผมการได้รับรู้ว่าคุณห่างไกลจากเป้าหมายกองทุนเกษียณเท่าไหร่ในวัยนี้จะยิ่งทำให้คุณสูญเสียกำลังใจ และขาดพลังในการผลักดันให้แผนการสำเร็จได้ ทั้งที่จริงๆแล้วคุณมีศักยภาพที่จะทำแผนการเงินนั้นๆได้

สิ่งที่ควรทำทันที: ใช้แค่เครื่องคิดเลขธรรมดาก็พอในการวางแผน หากคุณมีโอกาสคุยกับนักวางแผนการเงิน สื่อสารกับเค้าให้เข้าใจว่ามันยังไม่จำเป็น ณ ตอนนี้

2. เตรียมพร้อมจิตใจ และความรู้สึกกันก่อน

           “รู้งี้...ฉันน่าจะออม และลงทุนให้มากกว่านี้ตั้งแต่อายุ 25 – 30” “น่าจะออม และลงทุนมากกว่านี้ ไม่น่าเที่ยวเยอะเลย” “อายุ 50 แล้วไม่น่าจะวางแผนทันแล้ว” ความคิดเหล่านี้อาจเกิดขึ้นในใจ แต่การเสียดายเรื่องที่ผ่านมาแล้วไม่ช่วยอะไร ยิ่งการคิดในเชิงลบยิ่งไม่ควรทำ สิ่งสำคัญที่สุดคือการคิดว่าคุณจะทำอะไรกับช่วงเวลาที่เหลืออยู่จนถึงวันเกษียณต่างหาก

สิ่งที่ควรทำทันที: โยนความกลัว และความกังวลทิ้งไป เติมความคิดของคุณด้วยความคิดในเชิงบวก “ฉันจะเกษียณโดยที่สามารถดูแลตัวเองได้อย่างดี และฉันจะทำมันให้ได้” “เริ่มต้นวันนี้ ดีกว่าไม่เริ่มเลย”

3. เริ่มต้นดีๆด้วยการตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจน

          คุณอาจมีฝันมากมายเกี่ยวกับการใช้ชีวิตหลังเกษียณ แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่านั่นคือสิ่งที่คุณ “ต้องการมันจริงๆ” หรือแค่ “ได้อย่างนั้นก็ดีนะ” ทบทวนมันซะ ในวัย 50 ความฝันต้องชัดเจน จะให้แผนกองทุนเกษียณสำเร็จ นอกจากจะทุ่มเทแรงกายแรงใจแล้วต้องมุ่มมั่นใน “สิ่งที่ใช่ และชัดเจน” เท่านั้น

          วาดภาพการเกษียณของคุณเอง เกษียณเมื่อไหร่ อายุขัย(ประเมินจากอายุของครอบครัว) ใช้ชีวิตอยู่ที่ไหน หน้าตาที่อยู่เป็นอย่างไร อยู่กับใคร กิจกรรมที่จะทำในแต่ละวัน/เดือน/ปี โรงพยาบาลที่จะใช้บริการ ฯลฯ จะวาดแค่ในความคิดก็ได้ ทำเป็น Checklist หรือวาดลงบนกระดาษแปะไว้ในบ้านให้เห็นบ่อยๆได้ยิ่งดี ทั้งหมดนี้โฟกัสไปที่สิ่งจำเป็นจริงๆ

สิ่งที่ควรทำทันที: วาดภาพฝันวันเกษียณของคุณให้ชัดเจนที่สุด หรือหารูปสวยมาประกอบก็ได้

4. จัดทำงบประมาณของแต่ละรายการความฝัน

จากภาพการเกษียณของเราในข้อที่แล้วให้คุณลองใส่ตัวเลขงบประมาณลงไปในแต่ละรายการ พยายามให้รายละเอียดของค่าใช้จ่ายให้ตรงกับความเป็นจริงที่สุด แล้วสรุปค่าใช้จ่ายเป็นรายปี

กรณีค่ารักษาพยาบาล กรณีทุพพลภาพ หรือเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง ควรพิจารณาการทำประกันเพื่อป้องกันความเสี่ยงแทนการเก็บเงินไว้เอง ทำเรื่องที่ไม่แน่นอน ให้มันแน่นอน และบริหารจัดการได้ ดังนั้นค่าเบี้ยประกันตลอดความคุ้มครองช่วงหลังเกษียณมาเป็นงบประมาณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณด้วย

สิ่งที่ควรทำทันที: หาข้อมูลค่าความฝันวันเกษียณของคุณทั้งหมด ถ้าทำประกันไม่ได้ต้องเพิ่มงบ

5. สำรวจความมั่งคั่งของตัวเอง

รวบรวมข้อมูลการออม การลงทุนทั้งหมดที่มี ประเมินมูลค่า ณ วันเกษียณ และอัตราการจ่ายผลตอบแทนของเงินออมเงินลงทุนแต่ละก้อน หากไม่แน่ใจว่าจะประเมินได้ถูกต้อง คุณสามารถปรึกษาบริษัท หรือตัวแทนที่ขายสินค้าการเงินนั้นๆให้กับเราเพื่อประเมินมูลค่าได้ครับ

ต่อมาให้แยกส่วนการออมการลงทุนแต่ละก้อนเป็นประเภทเงินก้อน และเงินงวด ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าคุณต้องการจะบริหารมันอย่างไร สำหรับผมถ้าอัตราจ่ายผลตอบแทนสูงจัดเป็นเงินงวด ถ้าอัตราผลตอบแทนต่ำให้จัดเป็นเงินก้อน


วิธีบริหารข้อมูลสำคัญ
เงินก้อนถอนเฉพาะดอกผลของการออมการลงทุนเป็นงบค่าใช้จ่ายหลังเกษียณอัตราการจ่ายผลตอบแทนคิดเป็นร้อยละต่อปี (%/ปี) เพื่อเป็นตัวคูณรายได้ต่อปี
เงินงวดถอนทั้งเงินต้นและดอกผลเป็นงบค่าใช้จ่ายหลังเกษียณมูลค่า ณ วันเกษียณ เพื่อเป็นกองทุนเกษียณ

สิ่งที่ควรทำทันที: ประเมินมูลค่าของเงินแต่ละก้อน ณ วันที่เกษียณ และแยกประเภท

6. คำนวณส่วนต่างของงบประมาณ

กรณีมีทั้งเงินงวด และเงินก้อน

1.มูลค่า ณ วันเกษียณของเงินลงทุนแต่ละก้อน x อัตราการจ่ายผลตอบแทน = รายได้หลังเกษียณต่อปี
2. รวมรายได้หลังเกษียณต่อปีทั้งหมด – งบเกษียณที่ต้องการต่อปี = ส่วนต่างงบเกษียณต่อปี (ถ้ามีค่าเป็นบวกก็เตรียมเกษียณสบายครับ ไม่ต้องคำนวณต่อ)
3. ส่วนต่างงบเกษียณต่อปี x จำนวนปีหลังเกษียณ = กองทุนเกษียณที่ต้องการ
4. กองทุนเกษียณที่ต้องการ – มูลค่ารวมของเงินก้อน ณ วันเกษียณ = กองทุนเกษียณที่ต้องเก็บเพิ่ม

กรณีมีแต่เงินก้อน

1. งบเกษียณที่ต้องการต่อปี x จำนวนปีหลังเกษียณ = กองทุนเกษียณที่ต้องการ
 
2. กองทุนเกษียณที่ต้องการ - มูลค่ารวมของเงินก้อน ณ วันเกษียณ = กองทุนเกษียณที่ต้องเก็บเพิ่ม
 
ระวังการตั้งงบประมาณที่ต่ำเกินไป จุดสำคัญคือจำนวนปีหลังเกษียณควรเอาตัวเลขสูงสุดของคนในตระกูลสายตรงกับเราเช่น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยายที่อายุท่านสูงสุด แล้วบวกเพิ่มอีก 5 – 8 ปี เผื่อไว้ครับ

"ที่สุดแห่งความเสียดาย คือ ตายไปแล้วใช้เงินไม่หมด ที่สุดแห่งความสลด คือ ใช้เงินหมดแล้วยังไม่ตาย" ไม่รู้ใครกล่าวไว้ แต่ผมเห็นด้วยทุกประการ

สิ่งที่ควรทำทันที: คำนวณสิครับ

7. ทบทวนค่าใช้จ่ายปัจจุบัน และวางแผนการออมการลงทุน

การจัดพอร์ตโฟลิโอควรเลือกลงทุนในสินค้าการเงินที่มีการเติบโตที่ดีในระยะยาวในสัดส่วนมากหน่อย รวมถึงการทบทวนโยกย้ายเงินลงทุนบางส่วนจากสินค้าการเงินที่มีอัตราเติบโตต่ำ เช่น บัญชีออมทรัพย์ ไปยังสินทรัพย์ลงทุนที่มีโอกาสเติบโตสูงกว่า เพื่อเพิ่มโอกาสบรรลุเป้าหมายกองทุนเกษียณ

เป็นไปได้ควรใช้บริการนักวางแผนการเงินที่สามารถให้คำแนะนำอย่างเป็นกลาง และรอบคอบได้

สิ่งที่ควรทำทันที: ตามล่าหาเงินออม ลงทุนอย่างเป็นระบบ ให้วินัย และระยะเวลากับการลงทุน

8. ใช้งานเครื่องคิดเลขการเงิน หรือโปรแกรมคำนวณแผนเกษียณ

เมื่อได้ทำข้อ 1- 7 มาสักระยะ ผมเชื่อว่าคุณจะมีกำลังใจ และทิศทางการเงินการลงทุนที่ดี ซึ่งถึงเวลาที่คุณจะคำนวณงบประมาณเกษียณอย่างละเอียดเพื่อทบทวนแผนเกษียณของตัวเอง

สิ่งที่ควรทำทันที: คุณอาจเลือกที่จะไม่ทำข้อนี้ก็ได้ ควรให้สำคัญกับความมุ่งมั่นและกำลังใจสูงสุด

9. มองหาช่องทางสร้างรายได้เพิ่ม

การมีกิจกรรมที่สร้างรายได้เสริมจะช่วยให้การเกษียณมีความสุขมากขึ้นทั้งในทางการเงิน และความภาคภูมิใจของตนเอง

ความชอบของคุณ(passion) ประสบการณ์ และความรู้ที่สั่งสมมาสามารถเป็นอาชีพของคุณได้แม้จะเกษียณแล้วก็ตาม เช่น การเป็นวิทยากร Youtuber หรือขายคอร์ส Online ทาง application ต่างๆ

คุณอาจเริ่มอาชีพนั้นได้ตั้งแต่ก่อนเกษียณ ซึ่งจะยิ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจ และสร้างฐานลูกค้า หรือผู้ติดตามเตรียมพร้อมไว้เมื่อถึงวันเกษียณ

สิ่งที่ควรทำทันที: ทบทวนพิจารณาจุดแข็ง จุดเด่นของตนเองเพื่อต่อยอดเป็นอาชีพ/แหล่งรายได้

อ่านจบ 9 ข้อแล้ว ผมเชื่อว่าคุณคือคนหนึ่งที่ตั้งใจจะทำแผนการเกษียณของคุณให้เป็นจริง กลับไปอ่านข้อ 1 – 9 อีกครั้งและลงมือทำไปทีละขั้น วางแผนเกีษยณเมื่ออายุ 50 ไม่สายครับ
 
สนใจนัดหมายนักวางแผนการเงินเพื่อปรึกษาเพิ่มเติ่ม คลิก

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้