เงินน้อยลงทุนอะไรดี? เริ่มจัดพอร์ตลงทุนได้ด้วย 3 เคล็ดลับนี้

เงินน้อยลงทุนอะไรดี?

การลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากจะต้องอาศัยประสบการณ์ในการเลือกสินทรัพย์การลงทุนที่สอดคล้องกับเป้าหมายที่ต้องการและความเสี่ยงที่รับไหวแล้ว ‘เงินทุน’ ก็เป็นส่วนสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน
แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้น การมีเงินทุนเริ่มต้นที่น้อยก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่ประสบความสำเร็จด้านการลงทุนเสมอไป ดังนั้น สำหรับใครที่ต้องการลงทุนเพื่อต่อยอดเงินเก็บ แต่ยังไม่มีประสบการณ์และไม่แน่ใจว่ามีเงินน้อยลงทุนอะไรดีถึงจะสร้างผลตอบแทนที่มีประสิทธิภาพได้ มาดู 3 เคล็ดลับการเริ่มต้นลงทุนที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนจาก Money Adwise นำมาฝากกันได้เลย

เคล็ดลับที่ 1 : รู้จักตัวเองก่อน

    เบื้องหลังความสำเร็จของทุกการลงทุนเริ่มต้นจากการกำหนดเป้าหมายที่มีประสิทธิภาพ หากจะเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายขึ้น ลองนึกถึงเป้าหมายใกล้ตัวอย่างการเก็บเงินดูก่อน 

    ในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต มั่นใจได้ว่าใครหลายคนอาจกำหนดเป้าหมายเก็บเงินให้ได้ล้านแรกตอนอายุ 30 แต่สุดท้ายบางคนก็อาจไปไม่ถึงเป้าหมายที่ต้องการ เนื่องจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นภาระทางการเงินรอบด้าน ตลอดจนการไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่า จะเก็บเงิน 1 ล้านบาทไปเพื่ออะไร ใช้วิธีการไหนและต้องการให้เห็นผลลัพธ์ในระยะเวลาเท่าไหร่


SMART เทคนิคกำหนดเป้าหมายการลงทุนทั้งระยะสั้นและระยะยาว

    สำหรับใครที่ยังไม่แน่ใจว่าจะกำหนดเป้าหมายการเงินและการลงทุนอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ลองมาเริ่มต้นรู้จักความต้องการของตัวเองให้มากขึ้นด้วยเทคนิคการกำหนดเป้าหมายการเงินและการลงทุนตามหลัก S.M.A.R.T โดยแต่ละตัวอักษรจะมีรายละเอียดดังนี้

  • S - Specific : มีการกำหนดรายละเอียดที่ชัดเจน ไม่คลุมเครือ จับต้องได้ 
  • M - Measurable : วัดผลเป็นตัวเลขได้อย่างชัดเจน 
  • A  - Accountable : การวางแผนเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ 
  • R - Realistic : ตั้งเป้าหมายให้สอดคล้องกับความเป็นจริง อยู่ในขอบเขตที่ทำได้จริง
  • T - Time Bound : กำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมในการเห็นผลลัพธ์


    ตัวอย่างการใช้หลัก S.M.A.R.T

    นาย Money อายุ 25 ปี เป็นพนักงานประจำมีเงินเดือน 25,000 บาท ไม่มีภาระหนี้สิน ตอนนี้มีความต้องการเก็บเงินดาวน์บ้านหลังแรกให้ได้ตอนอายุ 30 ปี เมื่อคำนวณรวมกับอัตราเงินเฟ้อแล้วจำเป็นต้องใช้เงินจำนวน 1 ล้านบาทในการดาวน์บ้าน 

    ขณะนี้นาย Money ไม่เคยมีประสบการณ์การลงทุนมาก่อน จึงจะเริ่มจัดพอร์ตกองทุนรวมและลงทุนแบบ DCA เดือนละ 2,500 บาทและเก็บเงินฝากประจำ 10,000 บาททุกเดือน และจากตัวอย่างของนาย Money จะสามารถแบ่งเป้าหมายตามหลัก S.M.A.R.T ได้ดังนี้

  • S - Specific : ต้องการเก็บเงินและลงทุนสำหรับดาวน์บ้านหลังแรกเป็นของตัวเอง
  • M - Measurable : เก็บเงินให้ได้ 1 ล้านบาท จากการฝากประจำและลงทุนกองทุนรวม
  • A - Accountable : จัดพอร์ตกองทุนรวม ลงทุนแบบ DCA เดือนละ 2,500 บาท และ ฝากประจำเดือนละ 10,000 บาท
  • R - Realistic : หลังจากหักเงินลงทุนและเงินเก็บแล้ว นาย Money จะมีเงินเหลือใช้ 12,500 บาท ซึ่งหลังจากทำบัญชีรายรับ - รายจ่ายแล้วพบว่าเพียงพอต่อการดำรงชีวิตสำหรับผู้ที่ไม่มีภาระหนี้สิน
  • T - Time Bound : ใช้เวลาเก็บเงินดาวน์บ้าน 1 ล้านบาทภายใน 5 ปี 


เคล็ดลับที่ 2 : เลือกสินทรัพย์การลงทุนให้เหมาะสม

    จากตัวอย่างของนาย Money ข้างต้นจะเห็นได้ว่า ขณะนี้นาย Money มีเป้าหมายที่มีรายละเอียดชัดเจนและมีประสิทธิภาพ แต่หากลองสังเกตเพิ่มเติมจะพบว่า ‘การเลือกสินทรัพย์’ หรือ ‘การจัดพอร์ตกองทุนรวม’ ของนาย Money ในส่วนตัว A - Accountable นั้นจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ชี้วัดความสำเร็จของเป้าหมายการเก็บเงินเพื่อดาวน์บ้านในครั้งนี้

    เช่นเดียวกันสำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มต้นลงทุน การเลือกสินทรัพย์การลงทุนถือเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้เป้าหมายการลงทุนที่ต้องการประสบความสำเร็จเช่นกัน แต่จะเริ่มต้นเลือกสินทรัพย์อย่างไรนั้น มาเริ่มต้นพิจารณาตามขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้


เข้าใจความเสี่ยงที่ตัวเองรับไหว

ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนส่วนใหญ่มักแนะนำให้เลือกสินทรัพย์การลงทุนตามความเสี่ยงที่ตัวเองรับไหว แต่มั่นใจได้ว่าใครหลายคนก็คงจะสับสนอยู่ไม่น้อยว่า ระดับความเสี่ยงที่รับไหวมีอะไรเป็นเกณฑ์ในการชี้วัด ซึ่งในส่วนนี้ Money Adwise ขอแนะนำให้ลองพิจารณาความเสี่ยง 2 แบบหลัก ดังนี้

  • Risk Tolerance

    คือ ระดับความเสี่ยงที่เต็มใจยอมรับ พิจารณาจากทั้งอายุ นิสัย ความจำเป็นของชีวิตในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงประสบการณ์การลงทุนที่ผ่านมา เช่น บางคนอาจรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ไม่สูงมาก เพราะอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้องเก็บเงินเพื่อการเกษียณ

  • Risk Capacity

    คือ ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ พิจารณาจากภาพรวมทางการเงินและเป้าหมายการลงทุนเป็นหลัก เช่น ภาระหนี้สิน รายได้ สภาพคล่องทางการเงิน ทำให้จัดพอร์ตการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงมากไม่ได้

    โดยทั่วไปแล้ว Risk Tolerance และ Risk Capacity เป็นความเสี่ยงที่ต้องพิจารณาควบคู่กันเสมอ ซึ่งการกำหนดเป้าหมายการลงทุนที่ชัดเจนแต่แรกจะยิ่งช่วยทำให้พิจารณาความเสี่ยงทั้ง Risk Tolerance และ Risk Capacity เพื่อเลือกสินทรัพย์การลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

รู้จักความเสี่ยงจากสินทรัพย์การลงทุน

    เมื่อเข้าใจการประเมินความเสี่ยงที่ตนเองรับไหวแล้ว สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจเป็นลำดับถัดมา คือ ความเสี่ยงที่มาจากการลงทุน โดยโลกการลงทุนจะมีการแบ่งระดับความเสี่ยงออกเป็นพีระมิด หรือที่เรียกว่า Investment Risk Pyramid ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้

  • ส่วนฐานพีระมิด : การลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ คาดการณ์ผลตอบแทนได้ เช่น การฝากประจำ การลงทุนกับตราสารหนี้และพันธบัตรรัฐบาล
  • ส่วนกลางพีระมิด : การลงทุนที่มีความเสี่ยงปานกลาง ผลตอบแทนปานกลาง เช่น หุ้นและกองทุนรวมที่เน้นการลงทุนระยะยาว อสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนตราสารหนี้และพันธบัตรรัฐบาลบางตัว
  • ส่วนยอดพีระมิด : การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงสุด ผลตอบแทนสูง ที่ต้องอาศัยประสบการณ์การลงทุนเป็นอย่างมาก เช่น หุ้นและกองทุนที่มีความเสี่ยงระดับ 6 - 8 สัญญาซื้อขายล่วงหน้า การลงทุนสินทรัพย์ทางเลือกอย่างสกุลเงินดิจิทัล ของสะสม รวมไปถึง Warrant รูปแบบต่าง ๆ


รู้ทันความเสี่ยงของการลงทุน

นอกจากระดับความเสี่ยงของตัวสินทรัพย์การลงทุนแล้ว นักลงทุนยังควรทำความเข้าใจความเสี่ยงของการลงทุนทั้ง 3 ด้าน ซึ่งจะประกอบไปด้วย

  • ความเสี่ยงจากตลาด (Market Risk) เช่น ภาวะเศรษฐกิจทำให้ตลาดซบเซา 
  • ความเสี่ยงจากธุรกิจ (Business Risk) เช่น ธุรกิจดำเนินการไม่มีประสิทธิภาพ ความน่าเชื่อถือลดลงจนนักลงทุนขายสินทรัพย์ออกหมด 
  • ความเสี่ยงที่เป็นผลมาจากเวลา หรือ การคาดการณ์ เช่น ภาวะเงินเฟ้อ สภาพคล่อง ไปจนถึงเหตุไม่คาดฝันอย่างภัยธรรมชาติ การเมือง หรือ นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เข้ามาแทนที่ธุรกิจในตลาดเดิม 
 

อธิบายให้ฟัง! ลงทุนสินทรัพย์ตัวแรกควรเป็นหุ้นหรือกองทุนรวมดี?


หุ้นและกองทุนรวมเป็นสินทรัพย์การลงทุนที่ได้รับความนิยมคู่กันมาอย่างต่อเนื่อง แต่หากเปรียบเทียบแล้ว หุ้นเป็นสินทรัพย์การลงทุนที่นักลงทุนจะต้องใช้ประสบการณ์การลงทุนสูง เนื่องจากมีระดับความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูง


ในขณะที่กองทุนรวมจะเป็นการลงทุนตามนโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุน ซึ่งจะมีผู้จัดการกองทุนคอยดูแลเพื่อสร้างผลตอบแทนที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังได้รับประโยชน์ทางภาษี นอกจากนี้ กองทุนรวมยังมีระดับความเสี่ยงให้เลือกลงทุนตั้งแต่ระดับ 1 - 8 ทำให้ตอบโจทย์เป้าหมายการลงทุนได้อย่างครอบคลุม


สำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่ต้องการจัดพอร์ตกองทุนรวมก็สามารถเริ่มจากการจัดพอร์ตจากความเสี่ยงระดับ 1 - 5 ก่อน ที่อาจเริ่มจากกองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนตลาดเงินต่างประเทศ กองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาล กองทุนรวมตราสารหนี้ และกองทุนรวมผสม 


*ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกองทุนแต่ละตัวและเป้าหมายทางการเงินที่ต้องการด้วย

 

เคล็ดลับที่ 3 : วางแผนการเงินร่วมด้วย

    หลังจากที่กำหนดเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนรู้จักวิธีประเมินความเสี่ยงของตนเอง ความเสี่ยงจากสินทรัพย์ และความเสี่ยงจากการลงทุนแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ต้องลงมือทำ คือ การวางแผนการเงินควบคู่ไปกับแผนการลงทุน

    หลายคนอาจมองว่า การวางแผนการเงินร่วมกับการลงทุนเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น แต่ในความจริงแล้ว หากพอร์ตการลงทุนเกิดผิดพลาดและขาดทุนขึ้นมา ถ้าไม่วางแผนการเงินเอาไว้เลยก็จะทำให้สภาพคล่องทางการเงินเสียสมดุล หรือ ต้องนำเงินเก็บเพื่อเป้าหมายอื่น ๆ ออกมาบริหารพอร์ต 

    ดังนั้น หลังจากที่กำหนดเงินทุน พิจารณาประสบการณ์การลงทุนควบคู่ไปกับความเสี่ยงที่รับไหว พร้อมกำหนดระยะเวลาการลงทุนเพื่อรับผลตอบแทนแบบทบต้นแล้ว อย่าลืมวางแผนการเงินเพื่อป้องกันการสูญเสียสภาพคล่องทางการเงินหากเกิดการขาดทุนด้วย

    เท่านี้ก็ช่วยตอบคำถามอย่าง ‘เงินน้อยลงทุนอะไรดี’ ได้อย่างชัดเจนและเห็นภาพมากขึ้นแล้ว หากยังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มต้นลงทุนอย่างไรให้มีประสิทธิภาพและเข้าถึงทุกเป้าหมายที่ต้องการได้ นักวางแผนทางการเงินที่ได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ CFP® ที่ Money Adwise พร้อมช่วยคุณวางแผนการเงินและการลงทุนที่มีประสิทธิภาพเพื่อทุกเป้าหมายที่เป็นจริง ตอบโจทย์ทั้งการจัดพอร์ตลงทุนปันผล จัดพอร์ตกองทุนรวม และทุกสินทรัพย์ที่ต้องการ นัดปรึกษาครั้งแรกฟรี!

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้