อยากสำเร็จต้องรู้! กับ 8 สกิลจำเป็นต่อการเป็นนักวางแผนการเงิน

การเป็นนักวางแผนการเงินใช้สกิลอะไรบ้าง

การเป็นนักวางแผนการเงิน นอกจากจะต้องมีทักษะความเชี่ยวชาญ (Hard Skill) ที่จำเป็นต่อวิชาชีพแล้ว การสร้างทักษะเชิงสมรรถนะ หรือ Soft Skill ก็เป็นอีกหนึ่งสกิลสำคัญที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน

แน่นอนว่า ใครหลายคนย่อมรู้จักกับ Hard Skill ที่นักวางแผนการเงินทุกคนจำเป็นต้องมี ตลอดจนคุณวุฒิและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ในบทความนี้ นักวางแผนการเงิน CFP® จาก Money Adwise จะพาไปทำความรู้จักกับ 8 Soft Skill ที่จำเป็นต่อการเป็นนักวางแผนการเงินที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จในอนาคตได้

1. Time Management

การเป็นนักวางแผนการเงินที่ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องมีสกิลในการบริหารจัดการเวลาที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากอาชีพนักวางแผนการเงินนั้นเป็นอาชีพที่มีอิสระในการเลือกลูกค้า เลือกเวลาการทำงาน ตลอดจนเลือกเวลาในการใช้ชีวิต

หากไม่มีสกิลการจัดการเวลาที่เหมาะสม อาจทำให้เวลาในการทำงานปนกับเวลาในการใช้ชีวิต ส่งผลให้ไม่สามารถสร้าง Work-Life Balance ที่ดี จนทำให้เกิดปัญหาสุขภาพกายและใจ ตลอดจนปัญหาการทำงานตามมาได้ ทั้งในแง่มุมของการจัดสรรเวลาให้ลูกค้าไม่เหมาะสม รวมไปถึงการวางแผนการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอ จนสร้างผลลัพธ์ด้านการวางแผนการเงินให้ลูกค้าได้ไม่ดีเท่าที่ควร

2. Continuous Learning

Continuous Learning เป็นสกิลสำคัญต่อการเป็นนักวางแผนการเงินเป็นอย่างมาก โดย Continuous Learning หรือ ทักษะการเรียนรู้แบบไม่หยุดยั้งด้วยความตั้งใจและสนใจใฝ่รู้จากใจจริง ไม่เพียงแต่จะช่วยให้นักวางแผนการเงินอัปสกิลใหม่ ๆ ตลอดจนเพิ่มประสบการณ์เพื่อความก้าวหน้าทางการงานเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการวางแผนการเงินและแผนการลงทุนให้กับลูกค้าด้วย ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ลูกค้าทุกระดับสามารถเข้าถึงชีวิตอย่างที่ต้องการโดยมีความเสี่ยงที่น้อยที่สุด

Continuous Learning เป็นสกิลสำคัญที่ช่วยให้นักวางแผนการเงินต่อยอดองค์ความรู้ ทั้งในการอัปเดตข่าวสารใหม่ ๆ ไปจนถึงการอบรมและสอบคุณวุฒิเป็นนักวางแผนการเงิน CFP® และคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้

3. Communication and Interpersonal Skill

Communication and Interpersonal Skill หรือ ทักษะการสื่อสารและทักษะระหว่างบุคคล เป็นสกิลสำคัญที่ช่วยให้นักวางแผนการเงินรู้จักวิธีการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ในทุกมุมมอง ตั้งแต่การสื่อสารระหว่างบุคคล การแก้ปัญหา การทำงานเป็นทีม ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานส่วนบุคคล

Communication and Interpersonal Skill สำหรับการเป็นนักวางแผนการเงินนั้นเริ่มต้นจากการมีความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เข้าใจอารมณ์ของตัวเองและผู้อื่นได้แล้ว ยังสามารถบริหารอารมณ์ให้อยู่ในทิศทางที่ดี เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสกิลที่จำเป็นต่อการเป็นนักวางแผนการเงินอย่างมาก เนื่องจากจะทำให้เข้าใจถึงความกังวลและความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ Communication and Interpersonal Skill ยังครอบคลุมไปถึงสกิลการสื่อสารและเจรจาต่อรอง โดยเมื่อเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าและสามารถบริหารจัดการอารมณ์ต่าง ๆ ได้แล้ว การสื่อสารและการเจรจาต่อรองนี้ ยังจะช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า ตลอดจนสามารถแนะนำข้อเสนอต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการและสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้อีกด้วย

4. Trustworthiness

Trustworthiness หรือ ความน่าเชื่อถือ เป็นสกิลที่สามารถพัฒนาขึ้นได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการเข้าอบรมเพื่อพัฒนาทักษะของตนเอง ไปจนถึงการสร้างภาพลักษณ์ที่มีความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ นักวางแผนการเงินยังสามารถสร้างสกิลเหล่านี้ได้จากการฝึก Critical Thinking ได้เช่นกัน

Critical Thinking หรือ กระบวนการคิดเชิงวิพากษ์ เป็นสกิลความคิดแบบมีเหตุมีผล ไม่เชื่อข้อมูลชุดใดจนกว่าจะได้รับการตรวจสอบที่ละเอียดถี่ถ้วนก่อนเสมอ ทั้งยังสามารถนำเสนอข้อมูลทั้งหมดได้โดยมีหลักฐาน สมมติฐาน ตลอดจนเอกสารที่มีความน่าเชื่อถือรองรับ นอกจากนี้ Critical Thinking Skill ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนอย่างการวางแผนการเงินและแผนการลงทุนสำหรับลูกค้าในช่วงเวลาต่าง ๆ ได้ ซึ่งถือเป็นสกิลสำคัญที่ช่วยให้นักวางแผนการเงินมีความสามารถรอบด้านและได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าอย่างแท้จริง

5. Analytical Skill for Problem Solving

ด้วยโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่เพียงแต่จะต้องรู้จักยืดหยุ่นเท่านั้น แต่นักวางแผนทางการเงินยังควรมีสกิลการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพอย่าง Analytical Skill for Problem Solving ด้วยเช่นกัน

Analytical Skill for Problem Solving เป็นสกิลที่ทำงานร่วมกับ Critical Thinking ที่สามารถช่วยลดการแก้ไขปัญหาด้วยเหตุผลวิบัติ หรือ Fallacy ทำให้นักวางแผนทางการเงินสามารถมองเห็นภาพรวมของปัญหาและแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

การฝึกสกิล Analytical Skill for Problem Solving ทำได้จากการแยกแยะข้อมูลที่อยู่ในปัญหาก่อน จากนั้นจึงมาวิเคราะห์ต่อว่า ถ้าจะแก้ปัญหาที่ซ้อนอยู่ในปัญหาใหญ่นี้จำเป็นต้องใช้ข้อมูลใดบ้าง มีเหตุผลใดรองรับ ตลอดจนมีทางเลือกอื่น ๆ ในการแก้ปัญหาต่อหรือไม่ จากนั้นจึงนำข้อมูลทั้งหมดมาพิจารณาแบบองค์รวม เพื่อสร้างทางออกที่มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป

ในแง่มุมของการเป็นนักวางแผนทางการเงินแล้ว ลองให้คิดถึงสถานการณ์ที่ลูกค้าปฏิเสธแผนทางการเงินและการลงทุนที่เสนอ ตลอดจนลูกค้าที่ต้องการปรับแผนการเงินระหว่างทางดู จากนั้นจึงค่อย ๆ ซ้อมวางแผนรับมือ เพื่อเป็นการฝึกสกิลไว้ใช้ในสถานการณ์จริง

6. Active Listening

Active Listening เป็นสกิลการฟังที่ไม่ได้ฟังแบบผ่าน ๆ แต่เป็นการฟังโดยวางอคติ ความคาดหวัง และประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งหมด เพื่อ ‘ตั้งใจฟัง’ ทุกถ้อยคำของผู้พูดอย่างแท้จริง ซึ่งการฟังลักษณะนี้จะช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจทุกรายละเอียดอย่างถ่องแท้ จนนำไปสู่การจับประเด็น วิเคราะห์แยกแยะ ตลอดจนให้คำแนะนำที่เหมาะสมต่อไป

การเป็นนักวางแผนการเงินที่ประสบความสำเร็จต้องมีสกิลการฟังอย่าง Active Listening เพราะหากขาดสกิลนี้ไป นอกจากจะทำให้เข้าใจปัญหาของลูกค้าได้ไม่เต็มที่แล้ว ยังทำให้มีอคติในการวางแผนทางการเงิน ทั้งยังส่งผลให้วางแผนการเงินแบบจับแพะชนแกะ จนสร้างผลลัพธ์ที่ไม่มีประสิทธิภาพและเพิ่มความเสี่ยงให้กับชีวิตของลูกค้าได้

7. Emotion Management

นักวางแผนทางการเงินเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ต้องแบกรับความคาดหวังและความกดดันจากลูกค้าที่นำเงินเก็บแทบจะทั้งชีวิตมาลงทุน หรือ หากมองในแง่มุมความเป็นมนุษย์ด้วยแล้ว นักวางแผนทางการเงินก็เป็นมนุษย์อีกคนที่ต้องบริหารจัดการชีวิตตัวเองในอีกหลาย ๆ แง่มุม ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นธรรมดาที่นักวางแผนทางการเงินจะเป็นอาชีพที่มีความเครียดสูงเช่นกัน

ดังนั้น หากต้องการสร้างบาลานซ์ให้กับชีวิตการงานและชีวิตส่วนตัวได้ดียิ่งขึ้น นักวางแผนทางการเงินควรมีทักษะการจัดการอารมณ์ที่ดี หรือรู้จัก Emotion Management ที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อทำให้เท่าทันต่ออารมณ์และความรู้สึกในแต่ละวัน ตลอดจนช่วยป้องกันความเครียดสะสมในระยะยาวจนเกิดเป็นปัญหาสุขภาพและการงาน รวมถึงช่วยป้องกันความรู้สึก Burnout Syndrome ที่ทำให้รู้สึกท้อใจกับการทำงานและชีวิตในระยะยาว

8. Empathy

ลองคิดถึงสถานการณ์ง่าย ๆ ว่า เมื่อเรารับฟังเรื่องราวของใครแล้วดันพูดออกไปว่า ‘ถ้าเป็นเราแล้วจะทำแบบนั้นแบบนี้’ แน่นอนว่าผู้ฟังส่วนใหญ่มักจะรู้สึกว่า ‘เราไม่ได้รับฟัง’ แต่กำลัง ‘เสนอความคิดเห็นต่อปัญหาและพยายามบอกให้คนอื่นคิดแบบนั้นแบบนี้’ อยู่

สำหรับการเป็นนักวางแผนการเงินแล้ว การทำความเข้าใจผู้อื่นในมุมมองของคน ๆ นั้น หรือการมี Empathy ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากเอาความคิด หรือ ความคาดหวังของตัวเองไปมองปัญหาและความต้องการของลูกค้าเมื่อไหร่ ก็เท่ากับว่านักวางแผนการเงินไม่ได้เข้าใจหรือสนใจปัญหาของลูกค้าอย่างแท้จริง จนนำไปสู่การให้คำแนะนำแบบที่ไม่ได้เข้าใจปัญหาและความต้องการ ส่งผลให้สร้างผลลัพธ์ที่ไม่มีประสิทธิภาพได้

การเป็นนักวางแผนการเงินที่ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องอาศัยการฝึกทั้ง 8 Soft Skill ที่นำมาฝากนี้ร่วมกับ Hard Skill ที่เพิ่มพูนประสบการณ์จากการทำงานจริง ซึ่งการสมัครร่วมทีมนักวางแผนการเงินกับ Money Adwise ไม่เพียงแต่จะได้ฝึก Hard Skill ที่จำเป็นร่วมกับนักวางแผนการเงิน CFP® เท่านั้น แต่ยังจะได้ฝึกทั้ง 8 Soft Skill ในระหว่างการทำงานจริงด้วย สำหรับใครที่ต้องการสมัครร่วมทีมกับ Money Adwise สามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงกรอกแบบฟอร์มนี้ให้ครบ ไม่มีประสบการณ์แต่พร้อมเรียนรู้ก็สมัครได้!

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้