รู้จัก “ตราสารหนี้” สินทรัพย์ตัวแรก ๆ ที่ผู้รับดูแลการลงทุนแนะนำ

ลงทุนอะไรดี ตราสารหนี้ดีไหม

ผู้เขียน รัฐพล วชิรเมฆากุล CFP®

เมื่อต้องการต่อยอดเงินเก็บเพื่อเป้าหมายทางการเงินที่ต้องการ ใครหลายคนมักสงสัยว่าจะเริ่มต้นลงทุนอะไรดี ซึ่งสำหรับนักลงทุนมือใหม่แล้ว ผู้รับดูแลการลงทุน ไปจนถึงนักลงทุนที่มีประสบการณ์ส่วนใหญ่มักแนะนำให้เริ่มลงทุนจาก “ตราสารหนี้” ก่อน เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงไม่สูงมาก มีงบประมาณการลงทุนให้เลือกหลากหลาย มีต้นทุนลงทุนเดือนละ 5,000 บาทก็สามารถเริ่มต้นลงทุนได้

สำหรับใครที่ไม่รู้จะลงทุนอะไรดี แต่เริ่มสนใจสินทรัพย์อย่าง “ตราสารหนี้” ลองมาทำความรู้จักสินทรัพย์ตัวนี้ให้มากขึ้น เพื่อเป็นการวางแผนการลงทุนและบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสมกัน

รู้จัก “ตราสารหนี้” กันก่อน

ตราสารหนี้ (Bond) เป็นสินทรัพย์การลงทุนประเภทหนึ่งที่มีลักษณะการลงทุนคล้ายกับ “เจ้าหนี้และลูกหนี้” กล่าวคือ ผู้ออกตราสารหนี้จะมีสถานะเป็นลูกหนี้ที่จะนำเงินนักลงทุนไปต่อยอดหรือลงทุนต่อตามหนังสือชี้ชวน หรือ นโยบายการลงทุนที่ระบุเอาไว้ โดยจะออกเอกสารที่เรียกว่า “ตราสารหนี้” มาให้เจ้าหนี้ หรือ นักลงทุน ซึ่งจะมีการจ่าย “ดอกเบี้ย” เป็นผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่กำหนด เมื่อตราสารหนี้มีอายุครบกำหนด นักลงทุนก็จะได้รับเงินต้นที่นำไปลงทุนคืนทั้งหมด

หากมองในภาพรวมแล้ว ตราสารหนี้ถือเป็นการลงทุนที่มีความคล้ายคลึงกับเงินฝากประจำ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ค่อนข้างต่ำ นักลงทุนยังมีเงินต้นอยู่ครบถ้วน แถมยังได้ดอกเบี้ยเป็นประจำในระยะเวลาที่กำหนด แต่หากเปรียบเทียบแล้ว การลงทุนตราสารหนี้จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 2% - 5% ซึ่งจะสูงกว่าเงินฝากที่มีดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.3% - 0.5% ด้วยเหตุนี้ ผู้รับดูแลการลงทุนและนักลงทุนผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่จึงมักแนะนำให้เริ่มลงทุนในตราสารหนี้เสียเป็นส่วนมาก

ประเภทของตราสารหนี้

เมื่อพูดถึงการลงทุนในตราสารหนี้ ใครหลายคนอาจนึกถึงการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หรือ ตั๋วเงินคลัง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งพันธบัตรรัฐบาลและตั๋วเงินคลังนั้นจัดเป็นการลงทุนประเภทย่อยของตราสารหนี้เท่านั้น ซึ่งหากมองภาพใหญ่แล้ว ตราสารหนี้เป็นสินทรัพย์การลงทุนสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ดังนี้

1. ตราสารหนี้ภาครัฐ

ตราสารหนี้ภาครัฐ หรือ Government Bond เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐเพื่อจุดประสงค์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการนำเงินมาพัฒนาประเทศ ค้ำประกันกระทรวงการคลัง การปรับโครงสร้างหนี้ประเทศ การดูแลสภาพคล่องทางเศรษฐกิจประเทศ การชดเชยงบขาดดุลของประเทศ ไปจนถึงการส่งเสริมการออมเงินให้กับประชาชน

สำหรับในประเทศไทย ตราสารหนี้ภาครัฐจะประกอบไปด้วยพันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรการออมทรัพย์ และพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ซึ่งสัญญาตราสารหนี้ภาครัฐจะมีให้เลือกลงทุนทั้งระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี ไปจนถึงสัญญาการลงทุนตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป

2. ตราสารหนี้ภาคเอกชน

ตราสารหนี้ภาคเอกชน หรือ Corporate Bond จะมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “หุ้นกู้” ซึ่งจะออกโดยบริษัทและภาคเอกชนต่าง ๆ เพื่อเป็นการระดมทุนจากนักลงทุนเพื่อจุดประสงค์ทางธุรกิจ เช่น ขยายกิจการ หรือ ประคับประคองธุรกิจ โดยหุ้นกู้ส่วนใหญ่มักมีการกำหนดระยะเวลาในการออกที่นานกว่าตราสารหนี้ภาครัฐ เช่น นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ตั้งแต่ระยะเวลา 1 ปีไปจนถึง 20 ปีได้ นอกจากนี้ ธุรกิจบางบริษัทยังมีการออกหุ้นกู้ที่ไม่กำหนดระยะเวลา หรือ “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” มาให้นักลงทุนได้เลือกลงทุนอีกด้วย

ในปัจจุบันนี้ หุ้นกู้จากภาคเอกชนนั้นมีให้เลือกลงทุนทั้งจากตลาดไทยและต่างประเทศ ทั้งยังมีหลายประเภทให้เลือกลงทุน ไม่ว่าจะเป็น “หุ้นกู้แปลงสภาพ” ที่บริษัทจะออกหุ้นสามัญให้นักลงทุนในมูลค่าเท่ากับหุ้นกู้ที่ลงทุน ไปจนถึง “หุ้นกู้ที่มีและไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน” และ “หุ้นกู้ด้อยและไม่ด้อยสิทธิ” ซึ่งจะมีเงื่อนไขแตกต่างกันตามที่บริษัทและธุรกิจได้กำหนดเอาไว้

พิจารณาความเสี่ยงและเลือกลงทุนตราสารหนี้อย่างไร?

แม้จะเป็นการลงทุนที่แนะนำสำหรับมือใหม่และผู้ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะลงทุนอะไรดี แต่ตราสารหนี้ก็เป็นการลงทุนที่มาพร้อมความเสี่ยงที่จะขาดทุน หรือไม่ได้รับเงินต้นคืน ทั้งยังอาจไม่ได้รับดอกเบี้ยตามที่ระบุเอาไว้ในสัญญาอีกด้วย อย่างไรก็ดี นักลงทุนก็ยังสามารถบริหารความเสี่ยงในการลงทุนตราสารหนี้ได้โดยพิจารณาจาก 3 ปัจจัยดังนี้

1. อันดับความน่าเชื่อถือ

อย่างที่กล่าวไปว่า ตราสารหนี้นั้นเป็นสินทรัพย์การลงทุนที่มีสถานะเหมือน “เจ้าหนี้-ลูกหนี้” ดังนั้น ให้ลองคิดง่าย ๆ ว่า หากลูกหนี้มีประวัติไม่สู้ดี จ่ายเงินไม่ตรงเวลา และมีความน่าเชื่อถือที่น้อย เจ้าหนี้ควรจะให้ลูกหนี้ยืมเงินหรือไม่

แน่นอนว่า เป็นใครก็คงจะไม่อยากให้ลูกหนี้ผู้นี้ยืมเงินเป็นแน่แท้ หรือหากเป็นคนสนิทชิดใกล้ก็คงจะต้องตรวจสอบจากคนรอบข้าง หรือ ประสบการณ์ตรง แต่สำหรับการลงทุนที่ไม่อยากเผชิญเข้ากับประสบการณ์ขาดทุนโดยตรงสักเท่าไหร่ นักลงทุนเองก็สามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ได้จาก “อันดับความน่าเชื่อถือ” หรือ Credit Rating ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบไปด้วย

  • กลุ่มระดับน่าลงทุน หรือกลุ่มระดับ AAA ถึง BBB- ซึ่งมีความน่าเชื่อถือสูง มีความเสี่ยงต่ำ และมีความสามารถในการชำระหนี้ตามกำหนด เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยองค์กรหรือบริษัทที่มีความมั่นคงและน่าเชื่อถือสูง
  • กลุ่มเพื่อการเก็งกำไร หรือกลุ่มระดับ BB+ ลงไปจนถึง D ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความน่าเชื่อถือต่ำลงมา มีความเสี่ยงสูงที่จะไม่ได้การชำระหนี้ หรือ ดอกเบี้ยตามกำหนด มีโอกาสได้รับเงินต้นช้า หรือ ไม่ได้เลย
  • กลุ่มที่ไม่มีการจัดอันดับ ไม่ว่าจะจัดอันดับไม่ผ่าน หรือ ไม่ได้ส่งไปจัดอันดับความน่าเชื่อถือก็จะจัดอยู่ในกลุ่มนี้ โดยตราสารหนี้ในกลุ่มนี้มักจูงใจด้วยผลตอบแทนที่สูงมาก แต่ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงมากเช่นกัน เพราะอาจจะไม่ได้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งตราสารหนี้ประเภทนี้จะเป็นการลงทุนที่จำกัดอยู่ในกลุ่มนักลงทุนสถาบัน มีการเสนอขายแบบเฉพาะเจาะจง หรือมีการเสนอขายในบุคคลที่มีสินทรัพย์มากกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไป

2. ความผันผวนของราคา

ราคาซื้อขายตราสารหนี้อาจผันผวนได้จากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งหากนักลงทุนต้องการถือครองจนครบอายุของตราสารหนี้ก็อาจจะไม่ได้ผลกระทบของความผันผวนนี้มากนัก แต่หากต้องการซื้อขายเพื่อสร้างผลตอบแทนก็ต้องพิจารณาความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน โดยอัตราดอกเบี้ยจะเคลื่อนไหวสวนทางกับราคาตราสารหนี้

ดังนั้น เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงในจุดนี้ ผู้ให้บริการวางแผนการลงทุนและนักลงทุนส่วนใหญ่จึงแนะนำให้ติดตามอัตราดอกเบี้ย ราคาซื้อขายในตลาด ไปจนถึงผลตอบแทนที่ระบุในสัญญาร่วมด้วย

3. สภาพคล่องในตลาด

ตราสารหนี้เป็นสินทรัพย์การลงทุนที่ไม่มีสภาพคล่องในตลาด ด้วยเหตุนี้ การซื้อขายตราสารหนี้รายตัวจึงใช้เวลาที่ค่อนข้างนาน และมีโอกาสที่จะไม่ได้ราคาที่ต้องการ

แต่สำหรับนักลงทุนที่ต้องการสร้างผลตอบแทนรายวันจากตราสารหนี้ มีสภาพคล่องในตลาดที่สามารถตรวจสอบได้ แต่ไม่รู้จะลงทุนอะไรดี ขอแนะนำให้เลือกลงทุน “กองทุนตราสารหนี้” ที่สามารถซื้อขายได้ตามเวลาทำการของบลจ. แต่การลงทุนในกองทุนก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่แตกต่างกันไปเช่นกัน ดังนั้น จึงควรปรึกษาผู้รับดูแลการลงทุน หรือ ศึกษารายละเอียดและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุนอยู่เสมอ

4. ภาวะเศรษฐกิจ

นักลงทุนก็ยังสามารถเลือกลงทุนตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือที่ดีและเป็นที่ยอมรับ เพื่อเป็นการรักษาเงินต้นในช่วงเกิดสภาวะเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะช่วงเงินเฟ้อ ซึ่งอาจเลือกลงทุนกับพันธบัตรป้องกันเงินเฟ้อ (Treasury Inflation-Protected Securities) หรือ พันธบัตรรัฐบาลได้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปย่อมส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะช่วงเงินเฟ้อที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยสูง และทำให้ราคาตราสารหนี้ลดลงมา นักลงทุนจึงควรวางแผนการลงทุนให้รอบคอบ เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปย่อมส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะช่วงเงินเฟ้อที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยสูง และทำให้ราคาตราสารหนี้ลดลงมา นักลงทุนจึงควรวางแผนการลงทุนให้รอบคอบ เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง

หากคุณเป็นอีกคนที่ยังไม่แน่ใจว่าจะลงทุนอะไรดี หรือ ไม่รู้ว่าจะต้องเลือกตราสารหนี้ตัวไหน Money Adwise มาพร้อมกับบริการวางแผนการลงทุนที่จะตอบโจทย์กับทุกเป้าหมายทางการเงินโดยนักวางแผนการเงินที่ได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ CFP® ปรึกษาครั้งแรกฟรี นัดเวลาที่สะดวกได้ที่นี่

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้