วัย 50+ เรื่องต้องคิดโค้งสุดท้าย การออม PVD เพื่อวัยเกษียณ

วัย 50+ เรื่องต้องคิดโค้งสุดท้าย การออม PVD เพื่อวัยเกษียณ

ผู้เขียน รัฐพล วชิรเมฆากุล CFP®

ข้อควรรู้เกี่ยวกับ PVD ก่อนเกษียณ


เมื่อถึงวันเกษียณ เราอาจจะไม่ได้รับเงิน PVD ทั้งก้อน ควรเช็กเงื่อนไขข้อบังคับกองทุนเพื่อทำความเข้าใจก่อนออกจากงาน

ส่วนเงินสะสมและผลประโยชน์จากเงินสะสม : เงินส่วนนี้เป็นส่วนที่เราจ่ายสะสมไปในกองทุนทุกเดือนรวมกับผลตอบแทนการลงทุน เรามีสิทธิได้รับเงินส่วนนี้เต็ม 100% ทุกกรณีที่สิ้นสมาชิกภาพ ทั้งจากการลาออก เกษียณอายุ โอนย้ายกองทุน หรือเสียชีวิต

ส่วนเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบ : เงินส่วนนี้เป็นส่วนที่นายจ้างจ่ายสมทบเข้ากองทุน ส่วนที่ลูกจ้างจะได้รับขึ้นอยู่กับเงื่อนไขบังคับของกองทุน โดยส่วนใหญ่จะกำหนดโดยอายุงาน หรืออายุสมาชิก เพื่อจูงใจให้พนักงานทำงานระยะยาว

ตัวอย่าง: อายุงาน < 1 ปี สิทธิได้รับส่วนนี้ 10%, อายุงาน ตั้งแต่ 1-5 ปี สิทธิได้รับส่วนนี้ 50%, อายุงาน >5 ปี สิทธิได้รับส่วนนี้ 100%

สิทธิประโยชน์ทางภาษี

เมื่อออกจากกองทุนส่วนของเงินสะสมของลูกจ้างได้รับยกเว้นภาษี แต่ในส่วนของผลประโยชน์เงินสะสม, เงินสมทบ และ ผลประโยชน์เงินสมทบ จะต้องนำไปคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษี โดยเงื่อนไขแบ่งเป็น 3 กรณีตามอายุ และจำนวนปีที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

กรณีที่ 1 : ออกจากงานก่อนอายุ 55 ปี และ อายุสมาชิกน้อยกว่า 5 ปี

ไม่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ต้องนำเงินที่ได้ทั้ง 3 ส่วน ได้แก่ ผลประโยชน์เงินสะสม, เงินสมทบ และ ผลประโยชน์เงินสมทบ ไปรวมกับเงินได้อื่นเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามปกติ

ตัวอย่าง 1) เงินสะสม = 500,000 บาท  2) ผลประโยชน์เงินสะสม = 50,000 บาท

3) เงินสมทบ = 500,000 บาท 4) ผลประโยชน์เงินสมทบ = 50,000 บาท

นำส่วนที่ 2+3+4 = 50,000 + 500,000 + 50,000 =600,000 บาท ไปรวมกับเงินได้อื่นในปีนั้นเพื่อคำนวณภาษี

กรณีที่ 2 : ออกจากงานก่อนอายุ 55 ปี และ อายุสมาชิกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป

สามารถเลือกได้ระหว่างนำไปรวมกับรายได้อื่นเพื่อยื่นภาษี หรือแยกคำนวณภาษีต่างหาก โดยการแยกคำนวณ จะหักค่าใช้จ่ายแบบพิเศษ มี 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เอา 7,000 คูณจำนวนปีที่ทำงาน, ส่วนที่ 2 ให้นำเงินได้ หักด้วยส่วนที่ 1เหลือเท่าไหร่ให้คูณ 50% แล้วนำเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย  2 ส่วนนี้ไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สุทธิขั้นแรก 150,000 บาท)

ตัวอย่าง สมมติอายุสมาชิก 10 ปี เงินที่ได้จากกองทุนตามตัวอย่างด้านบน 600,000 บาท

ค่าใช้จ่ายส่วนที่ 1:  7,000 x 10 = 70,000 บาท

ค่าใช้จ่ายส่วนที่ 2 : (600,000 – 70,000) x 50% = 265,000

เงินได้สุทธิ = 600,000 – 70,000 – 265,000 = 265,000 บาท นำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา       

กรณีที่ 3 : เกษียณอายุ (อายุ 55 ปีขึ้นไป) และ อายุสมาชิก 5 ปีขึ้นไป

ได้รับยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษีทั้งจำนวน

คำแนะนำ

สำหรับผู้ที่ออกจากงานก่อนอายุ 55 ปี (กรณีที่ 1 และ กรณีที่ 2) มีทางเลือกให้อีก 3 วิธี เพื่อลงทุนต่อจนกว่าจะอายุ 55 ปี และลงทุนใน PVD หรือ RMF for PVD ตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป เพื่อเข้าเงื่อนไขได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี  

1.       คงไว้ใน PVD เดิม ซึ่งจะเสียค่าธรรมเนียมการคงเงิน 500 บาทต่อปี

2.       โอนย้ายไปยัง PVD ของที่ทำงานใหม่

3.       โอนย้ายไปยัง RMF for PVD

Checklist สิ่งที่ต้องทำเกี่ยวกับการวางแผนออมใน PVD ก่อนเกษียณ

o   คำนวณแผนเกษียณ หากเงินเกษียณยังไม่พอ และยังออมไม่เต็มสิทธิ อาจพิจารณาเพิ่มอัตราการจ่ายเงินสะสม

o   ศึกษาเงื่อนไขข้อบังคับกองทุน

o   ดูข้อมูลผลการดำเนินงานเป็นประจำทุกปี เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกนโยบายการลงทุน

o   ทำประมาณการเงินที่จะได้รับจาก PVD จำนวนเงินที่จะได้รับของแต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุปัจจุบัน อายุเกษียณ เงินเดือน อัตราเพิ่มขึ้นของเงินเดือน เพดานเงินเดือน อัตราเงินสะสม อัตราเงินสมทบ และผลตอบแทนจากการลงทุน

o   ปรับสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะกับแผนเกษียณ ผลตอบแทนคาดหวัง และความสามารถในการยอมรับความเสี่ยง เช่น ปรับน้ำหนักเงินลงทุนให้เน้นลงทุนในตราสารหนี้ เนื่องจากเป็นช่วงก่อนเกษียณ เหลือเวลาในการออมสั้น ควรลดความเสี่ยงลง

o   ศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษี และทางเลือกในการจัดการเงิน PVD  เมื่อเกษียณ

 

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้