5 คุณวุฒิทางการเงินที่ต้องรู้ก่อนเลือกบริษัทที่ปรึกษาวางแผนการเงิน

เลือกที่ปรึกษาวางแผนการเงินอย่างไร

ผู้เขียน จิณณรักษ์ เจตน์รังสรรค์ CFP®

ชีวิตที่มั่นคงมีรากฐานมาจากแผนการเงินและการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี เช่นเดียวกับโลกอันกว้างใหญ่ โลกการเงินเองก็มาพร้อมกับรายละเอียดและความซับซ้อนในแบบเฉพาะตัว ที่อาจสร้างความสับสนจนทำให้เกิดความผิดพลาดในแผนการเงินและการลงทุนได้

โดยการเลือกใช้บริการจากบริษัทที่ปรึกษาวางแผนการเงินถือเป็นทางเลือกสำคัญที่ช่วยลดข้อผิดพลาด พร้อมเปิดโอกาสทางการเงินใหม่ให้กับชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทุกคนสามารถพิจารณาเลือกที่ปรึกษาการเงินส่วนบุคคลที่ตอบโจทย์ได้จากการ 5 คุณวุฒิสำคัญทางการเงินที่นำมาฝากในวันนี้

1. Investment Consultant (IC)

Investment Consultant หรือ IC เป็นคุณวุฒิของ “ผู้แนะนำการลงทุน” เพื่อช่วยให้นักลงทุนสามารถเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับความต้องการได้ โดยการแนะนำผลิตภัณฑ์การลงทุนนี้จะอยู่ในขอบเขตของรายละเอียดผลิตภัณฑ์ การแนะนำการซื้อขาย ไปจนถึงการชักชวนให้มีการลงทุน แต่ไม่มีการวิเคราะห์ หรือ วางแผนการลงทุนร่วมด้วย โดยบริษัทที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคลอาจมีนักวางแผนการลงทุนคุณวุฒิ IC ให้บริการเช่นกัน ซึ่งคุณวุฒิดังกล่าวนี้จะมีด้วยกัน 4 ระดับ ประกอบไปด้วย

  • Investment Consultant Complex 1 ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 1 เช่น
    • สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีความเสี่ยงสูง
    • กองทุนรวม ตราสารหนี้ ตราสารทุนที่ซับซ้อนและไม่ซับซ้อน
  • Investment Consultant Complex 2 ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 2 เช่น
    • ตราสารหนี้และกองทุนรวมที่ซับซ้อน
    • ตราสารทุน กองทุนรวม และตราสารหนี้ที่ไม่ซับซ้อน
  • Investment Consultant Complex 3 ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 3 เช่น
    • สัญญาซื้อขายล่วงหน้า
    • ตราสารทุน กองทุนรวม และตราสารหนี้ที่ไม่ซับซ้อน
  • Investment Consultant Plain เป็นผู้แนะนำการลงทุนตราสารทั่วไป เช่น
    • ตราสารทุน กองทุนรวม และตราสารหนี้ที่ไม่ซับซ้อน

2. Investment Planner (IP)

นอกจากคุณวุฒิ Investment Consultant แล้ว ทุกคนยังสามารถเลือกใช้บริการบริษัทให้คำปรึกษาทางการเงินและการลงทุนโดยพิจารณาจากคุณวุฒิอย่าง Investment Planner หรือ IP ได้เช่นกัน

คุณวุฒิ Investment Planner (IP) หรือ “ผู้วางแผนการลงทุน” คือ คุณวุฒิที่สามารถแนะนำผลิตภัณฑ์และวางแผนการลงทุนให้เหมาะสมกับความต้องการ ความเสี่ยงที่รับไหว จุดประสงค์การลงทุน โดยอ้างอิงจากการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าแต่ละรายในเชิงลึก

การสอบคุณวุฒิ Investment Planner ได้จำเป็นที่ต้องสอบคุณวุฒิ Investment Consultant ได้ทุกระดับ หรือเป็นผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภทที่ 1 (Investment Consultant Complex 1) ให้ได้ หรือผ่านการทดสอบการเป็นนักวางแผนการเงินที่ได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ CFP® ฉบับที่ 1 เรื่องพื้นฐานการวางแผนการเงิน ภาษี และจรรยาบรรณ และ ฉบับที่ 2 เรื่องการวางแผนการลงทุน

จะเห็นได้ว่า Investment Planner ถือเป็นคุณวุฒิสำคัญที่ช่วยให้ทุกคนเลือกพิจารณาความน่าเชื่อถือ ประสบการณ์ และองค์ความรู้ของที่ปรึกษาการเงินส่วนบุคคลที่สนใจได้

3. Associate Financial Planner Thailand (AFPT™)

แม้การลงทุนจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่สุขภาพการเงินที่แข็งแรงยังต้องอาศัยแผนการเงินส่วนบุคคลที่มีประสิทธิภาพเช่นกัน เพราะหากแผนการลงทุนเกิดข้อผิดพลาดขึ้นเมื่อไหร่ ถ้าไม่มีแผนการเงินอื่น ๆ รองรับก็อาจทำให้สภาพคล่องทางการเงินมีปัญหาเช่นกัน

ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงและช่วยบริหารสุขภาพการเงินได้อย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้น ผู้ที่มีคุณวุฒิอย่าง Associate Financial Planner Thailand หรือ AFPT™ จึงเป็นผู้ช่วยสำคัญที่เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการในส่วนนี้ได้

Associate Financial Planner Thailand (AFPT™) เป็น “คุณวุฒิที่ปรึกษาการเงิน” ที่ได้รับการรับรองจากสมาคมนักวางแผนการเงินไทย โดยผู้ถือคุณวุฒิดังกล่าวนี้จะให้คำปรึกษาด้านในด้านหนึ่ง ระหว่างด้านการลงทุน หรือ ด้านการเงิน ซึ่งหากเป็นการให้คำปรึกษาทางด้านการเงินก็จะครอบคลุมการวางแผนประกันชีวิต ประกันภัย ไปจนถึงการวางแผนเกษียณ

โดยก่อนที่จะให้คำปรึกษาทั้ง 2 ด้านได้ ที่ปรึกษาการเงินส่วนบุคคลที่ถือคุณวุฒิ AFPT™ จะต้องผ่านการอบรมและสอบจำนวน 2 ฉบับ ซึ่งจะมีรายละเอียดแตกต่างกัน ดังนี้

  • ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™ ด้านการลงทุน จะต้องสอบข้อสอบฉบับที่ 1 เรื่องพื้นฐานการวางแผนการเงิน ภาษี และจรรยาบรรณ และ ข้อสอบฉบับที่ 2 เรื่องการวางแผนการลงทุน
  • ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™ ด้านการประกันชีวิต จะต้องสอบข้อสอบฉบับที่ 1 เรื่องพื้นฐานการวางแผนการเงิน ภาษี และจรรยาบรรณ และ ข้อสอบฉบับที่ 3 เรื่องการวางแผนการประกันภัย และการวางแผนเพื่อวัยเกษียณ

จากนั้นจึงต้องขึ้นทะเบียนกับสมาคมนักวางแผนการเงินไทย อีกทั้งยังต้องพัฒนาคุณวุฒิวิชาชีพอย่างต่อเนื่องจำนวนไม่น้อยกว่า 30 ชั่วโมง และต้องยื่นต่ออายุคุณวุฒิทุก 2 ปีปฏิทิน ถึงจะทำให้บริษัทที่ปรึกษาวางแผนการเงินที่มีคุณวุฒิดังกล่าวนี้มีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ

4. Certified Financial Planner (CFP®)

โลกที่เปลี่ยนแปลงไปย่อมสร้างความซับซ้อนใหม่ให้ชีวิตด้วยเสมอ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเงินและการลงทุนส่วนบุคคลแล้ว ชีวิตด้านอื่น ๆ ที่มีการเงินมาเกี่ยวข้องก็มีความจำเป็นที่ต้องวางแผน ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงในเรื่องสุขภาพ การส่งต่อมรดก ไปจนถึงการวางแผนเกษียณที่รองรับทุกความต้องการ

ด้วยเหตุนี้ คุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP® จึงถือกำเนิดขึ้นในปีค.ศ. 1973 เพื่อสร้างแผนการเงินที่ครอบคลุมทุกรายละเอียดของชีวิต จนเกิดเป็นวิชาชีพที่เรียกว่า นักวางแผนการเงิน หรือ Financial Planner ในปัจจุบัน

การจะสอบเป็นนักวางแผนการเงินที่ได้รับการรับรองคุณวุฒิ CFP® นั้นจะต้องมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับแผนการเงินอย่างถูกต้อง ซึ่งจะต้องผ่านการอบรมความรู้ 6 ชุดวิชา ซึ่งจะประกอบไปด้วย

  1. พื้นฐานการวางแผนการเงิน ภาษี และจรรยาบรรณ
  2. การวางแผนลงทุน
  3. การวางแผนประกันภัย
  4. การวางแผนเพื่อการเกษียณ
  5. การวางแผนภาษีและมรดก
  6. การจัดทำแผนการเงิน

เมื่ออบรมครบทั้ง 6 วิชาแล้ว ทุกคนยังต้องสอบข้อสอบอีก 4 ฉบับ และเก็บประสบการณ์การทำงานตามข้อกำหนด ได้แก่ ประสบการณ์ด้านการสอน* หรือการปฏิบัติงานโดยตรงในอุตสาหกรรมการเงินซึ่งจะต้องครอบคลุม “หลักปฏิบัติการวางแผนการเงิน” อย่างน้อย 1 ด้านหรือมากกว่าเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 ปี

จากนั้นผู้สมัครเป็นนักวางแผนการเงินที่ได้รับการรับรองคุณวุฒิ CFP® จะต้องปฏิบัติตาม “จรรยาบรรณและความรับผิดชอบในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพวางแผนการเงิน” อย่างต่อเนื่อง จนสุดท้ายได้เป็นนักวางแผนการเงินที่ได้รับการรับรองคุณวุฒิ CFP®

โดยคุณวุฒิ CFP® เป็นคุณวุฒิด้านการเงินระดับสากลของโลกที่ช่วยดูแลทุกความต้องการเรื่องเงินแบบรอบด้านและครบทุกรายละเอียดในชีวิต ซึ่งในปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมีที่ปรึกษาการเงินส่วนบุคคลเพียง 421 คนเท่านั้นที่มีคุณวุฒินักวางแผนการเงินอย่าง CFP®

5. คุณวุฒิอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

นอกจาก 4 คุณวุฒิที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว บริษัทที่ปรึกษาวางแผนการเงินมากมายยังมีคุณวุฒิด้านการเงิน (Finance) อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยให้ผู้รับบริการสามารถมองเห็นโอกาสทางการเงินในด้านอื่นมากขึ้น เช่น

  • คุณวุฒิ CPA เป็นใบอนุญาตสำหรับเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต เพื่อทำการตรวจสอบบัญชีส่วนบุคคลและธุรกิจ
  • คุณวุฒิ CFA เป็นคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับการเงินและการลงทุนโดยเฉพาะ รับรองโดย CFA Institute จากสหรัฐอเมริกา
  • คุณวุฒิ CISA เป็นคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ทั้งการบริหารและวิเคราะห์การลงทุนในเชิงกว้างและเชิงลึก
  • คุณวุฒิ FRM เป็นใบอนุญาตประกอบวิชาชีพด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการเงินและการลงทุน

จบลงไปแล้วกับ 5 คุณวุฒิทางการเงินที่ต้องมองหาทุกครั้งเมื่อต้องการใช้บริการจากบริษัทให้คำปรึกษาทางการเงิน สำหรับใครที่ยังไม่แน่ใจว่าจะใช้บริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคลจากที่ไหนดี Money Adwise พร้อมให้บริการวางแผนการเงินทุกรูปแบบ โดยนักวางแผนการเงินที่ได้รับการรับรองคุณวุฒิ CFP® ที่มีความรู้และความเข้าใจทุกแง่มุมเกี่ยวกับการวางแผนการเงินอย่างถูกต้อง เพื่อครอบคลุมทุกความต้องการของชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการเงิน นัดปรึกษาได้ครั้งแรกฟรีที่นี่

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้