เกษียณแล้วได้เงินก้อนจาก PVD ทำไงต่อดี

เกษียณแล้วได้เงินก้อนจาก PVD ทำไงต่อดี

ผู้เขียน จิณณรักษ์ เจตน์รังสรรค์ CFP®

หลายๆท่านทำงานได้รับเงินเดือนมาหลายสิบปี มีเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ(Provident Fund: PVD)อยู่ก้อนหนึ่ง พอจะเกษียณมักมีคำถามว่าจะต้องทำอย่างไรกับเงินก้อนนี้ดี มีทางเลือกอะไรบ้างเพื่อบริหารเงินก้อนนี้  

ก่อนพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสม เราควรทบทวนแผนเกษียณของตนเองก่อนว่า เรามีเป้าหมายเงินหลังเกษียณที่เท่าไหร่ โดยสามารถคำนวณเบื้องต้นจากค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องใช้ในแต่ละเดือน และระยะเวลาที่จะต้องใช้เงิน แล้วอย่าลืมคิดเรื่องเงินเฟ้อด้วย เมื่อคิดถึงตรงนี้บางท่านอาจพบว่า เงินออมส่วนอื่นไม่รวมPVDที่จะได้รับมีเตรียมไว้เพียงพอแล้ว บางท่านยังมีเงินออมไม่เพียงพอ แต่ก็สามารถนำมาใช้ได้หลายปี หรือบางท่านไม่มีเงินเก็บส่วนอื่นเลย ต้องนำเงิน PVD ออกมาใช้ทันทีหลังเกษียณ แต่ละท่านมีความจำเป็นและต้องการใช้เงินก้อนนี้ด้วนวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน ควรเลือกทางเลือกให้เหมาะกับแผนเกษียณของตนเอง

สำหรับผู้ที่เกษียณอายุ หรือออกจากงานอายุ 55 ปีขึ้นไป มีทางเลือกในการบริหารเงินออม PVD อยู่ 5 วิธีด้วยกัน

1.       โอนย้ายกองทุนไปนายจ้างใหม่

วิธีการนี้เหมาะกับ : ผู้ที่ตัดสินใจทำงานต่อ และนายจ้างใหม่มีตั้ง PVD ให้พนักงาน ท่านก็สามารถสมัครเป็นสมาชิกPVDของนายจ้างใหม่ และขอโอนเงินจาก PVD ของนายจ้างเดิมมาเข้าออมต่อใน PVD ของนายจ้างใหม่ได้

2.       รับเงินออกทั้งจำนวน

วิธีการนี้เหมาะกับ : ผู้ที่ต้องการนำเงินออกมาทั้งก้อน หรือต้องการนำเงินมาบริหารการลงทุนเอง

ข้อควรระวัง : ถ้าท่านเกษียณก่อนอายุ 55 ปี หรือเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ถึง 5 ปี ท่านจะต้องนำเงิน ได้ส่วนนี้ไปคำนวณเพื่อเสียภาษีบุคคลธรรมดาด้วย

คำแนะนำ:

a.       หากนำเงินออมออกมาทั้งก้อน ท่านควรวางแผนทางการเงินและระมัดระวังการใช้จ่ายให้ดี มิฉะนั้นเงินที่เก็บออมมาตลอดระยะเวลาการทำงานของท่านจะลดลงอย่างรวดเร็ว ควรคิดอย่างรอบคอบโดยเฉพาะช่วงเกษียณ ไม่ว่าจะเป็นการนำเงินไปซื้อทรัพย์สิน เช่น อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ การกู้ยืมเงิน หรือ การให้ลูกหลานยืม

b.       ถ้าท่านนำเงินมาลงทุนต่อเอง ควรจัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะกับเป้าหมายทางการเงิน และระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

3.       คงเงินไว้ในกองทุน

วิธีการนี้เหมาะกับ: ผู้ที่ต้องการให้เงินยังคงลงทุนอยู่ในPVDต่อไป ท่านอาจจะเลือกวิธีนี้ถ้าท่านมีเงินเก็บที่เพียงพอให้ใช้จ่ายอยู่ หรือยังมีรายได้แหล่งอื่น หรือพึ่งผ่านช่วงวิกฤต ท่านต้องการรอให้ตลาดปรับตัวดีขึ้นจนมูลค่าเงินใน PVD สูงขึ้นค่อยนำเงินออกมา หรือท่ายยังอายุไม่ถึง 55 ปี หรือเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ถึง 5 ปี ยังไม่เข้าเงื่อนไขของสรรพากรที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษี สามารถเลือกคงเงินไว้จนกว่าจะครบเงื่อนไข

ค่าใช้จ่าย : ค่าธรรมเนียมในการคงเงิน 500 บาทต่อปี

คำแนะนำ :

a.       ท่านควรศึกษาข้อมูลนโยบายการลงทุนใน PVD ของท่าน และปรับแผนการลงทุนใน PVD ให้เหมาะกับเป้าหมาย และระดับความเสี่ยงของท่านในช่วงเกษียณ เช่น เลือกเน้นลงทุนในตราสารหนี้ เนื่องจากมีระดับความเสี่ยงต่ำ

b.       เพื่อประหยัดค่าธรรมเนียมในการคงเงินปีละ 500 บาท ท่านสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือนักวางแผนการเงิน CFP® เพื่อนำเงินก้อนนี้ไปบริหารต่อในกองทุนรวม หรือใน RMF for PVD ตามข้อ 4.

4.       โอนไป RMF  for PVD

วิธีการนี้เหมาะกับ : ผู้ที่ต้องการให้เงินลงทุนและสร้างผลตอบแทนอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่เกษียณแต่อายุยังไม่ถึง 55 ปี หรืออายุสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังไม่ถึง 5 ปี

กองทุนรวม RMF ที่สามารถรับโอนจาก PVD นั้น จะต้องเป็นกองทุนรวม RMF for PVD เท่านั้น ซึ่งจะมีระบุไว้ในหนังสือชี้ชวนว่า “รองรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ปัจจุบันมีกองทุนรวม RMF for PVD ให้เลือกมากกว่า 100 กอง จาก 10 บลจ. มีหลากหลายนโยบายการลงทุนให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นกองที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารทุน, ตราสารหนี้, กองทุนรวมผสม และกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ และอสังหาริมทรัพย์

คำแนะนำ :

a.       ท่านควรเลือกกองทุนและจัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะกับเป้าหมายและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยศึกษาข้อมูลจากหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ (Fund Fact Sheet) ข้อมูลสำคัญที่ควรทำความเข้าใจ เช่น นโยบายกองทุน ระดับความเสี่ยง ผลตอบแทนย้อนหลังเทียบกับ benchmark

b.       ท่านสามารถสับเปลี่ยนกองทุน RMF for PVD หรือย้ายกองทุนไปยังบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แห่งอื่นได้

5.       ขอรับเงินเป็นงวด

วิธีการนี้เหมาะกับ : ผู้ที่ต้องการกระแสเงินสดมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

วิธีนี้ท่านจะยังคงเป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ เงินที่อยู่ใน PVD ก็ยังอยู่ในการลงทุน ทั้งนี้ระยะเวลาและ จำนวนเงินที่จะรับในแต่ละงวด ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างคณะกรรมการกองทุน และบริษัทจัดการ ซึ่งกำหนดในข้อบังคับกองทุนที่สมาชิกกองทุนสังกัดอยู่ เช่น รับเงินทุกเดือนเป็นระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี เป็นต้น

คำแนะนำ :

a.       ท่านควรคำนวณเงินที่จะขอรับให้ใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายที่จะใช้เพื่อที่เงินส่วนที่เหลือจะได้ลงทุนใน PVD ต่อไป

b.       เช็กค่าธรรมเนียมในการขอรับเงินเป็นงวดว่าคุ้มค่าหรือไม่

ทางเลือกที่เหมาะสมกับแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับแผนเกษียณของแต่ละคน บางคนต้องการให้เงินโตต่อ ก็เลือกให้ลงทุนต่อได้ทั้งใน PVD เดิม, รับมาลงทุนต่อเอง หรือ ย้ายไปลงทุนต่อใน RMF for PVD บางคนก็ต้องการนำเงินมาใช้จ่ายก็เลือกได้ทั้งแบบรับทั้งหมด หรือรับเป็นรายงวด เพราะฉะนั้นก่อนเกษียณอย่าลืมทบทวนแผนเกษียณของท่านอย่างถี่ถ้วน เพื่อจะได้เลือกวิธีที่เหมาะกับท่านที่สุด หากต้องการคำปรึกษา แนะนำให้เข้าwebsite สมาคมนักวางแผนการเงินไทยเพื่อปรึกษากับนักวางแผนการเงิน CFP®

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้