เริ่มต้นวางแผนการเงินให้มีประสิทธิภาพด้วย Financial Pyramid

วิธีวางแผนการเงินด้วย_Financial_Pyramid_cover

ผู้เขียน จิณณรักษ์ เจตน์รังสรรค์ CFP®

การมีอิสรภาพทางการเงินอาจเริ่มต้นได้จากการวางแผนการเงินที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งการจะไปสู่เป้าหมายทางการเงินที่ตั้งใจไว้อาจไม่ต้องอาศัยเทคนิคหรือความซับซ้อนอะไรมากมาย แต่ต้องมีความเข้าใจกับการวางแผนทางการเงินขั้นพื้นฐาน ที่สามารถนำไปปรับให้เข้ากับความต้องการและเป้าหมายของตัวเองได้

ถึงแม้ว่าเทคนิคการวางแผนการเงินให้ประสบความสำเร็จอาจมีอยู่หลากหลายวิธี แต่รู้หรือไม่? บรรดาเทคนิคต่าง ๆ ที่หลายคนรู้จักอาจมีพื้นฐานมาจากแนวคิดระดับสากลอย่าง “Financial Pyramid” หรือ “พีระมิดทางการเงิน” แล้วพีระมิดทางการเงินนี้คืออะไร จะสามารถนำไปปรับใช้ในการวางแผนการเงินได้มากน้อยแค่ไหน ผู้เชี่ยวชาญทางการเงินตัวจริงจะมาไขข้อสงสัยให้รู้ไปพร้อมกัน

 

Financial Pyramid คืออะไร?

การเริ่มวางแผนการเงินที่เหมาะสมเกิดขึ้นจากความเข้าใจในเทคนิคการวางแผนที่ถูกต้อง ดังนั้น เพื่อช่วยให้ทุกคนวางแผนการเงินได้อย่างลงตัวและตอบโจทย์กับความต้องการ เราลองมาทำความเข้าใจพื้นฐานที่ถูกต้องของ “Financial Pyramid” หรือ “พีระมิดทางการเงิน” กันก่อน

พีระมิดทางการเงิน (Financial Pyramid) เป็นเทคนิคการวางแผนทางการเงินรูปแบบหนึ่ง ที่มีแนวคิดพื้นฐานคล้ายกับการสร้างพีระมิด หากใครยังนึกภาพไม่ออกล่ะก็ ลองคิดดูง่าย ๆ ว่า ถ้าหากวันหนึ่งเราต้องการสร้างบ้านสักหลังให้อยู่ยงคงกระพันเหมือนพีระมิดที่อิยิปต์ แน่นอนว่า ในฐานะผู้สร้างบ้าน เราจะต้องให้ความสำคัญทั้งในเรื่องของวัสดุและโครงสร้างของบ้านเป็นลำดับแรก จากนั้นจึงค่อย ๆ เริ่มสร้างเป็นลำดับขั้นเพื่อไปให้ถึงชั้นบนสุด และหลังคาอย่างมั่นคง

ดังนั้น หากเปรียบเทียบเป็นเรื่องของการเงินแล้ว การวางแผนการเงินด้วยแนวคิด Financial Pyramid นี้จึงเป็นการสร้างพื้นฐานทางการเงินที่แข็งแรงเพื่อนำไปสู่การสร้างพีระมิดชั้นที่สูงขึ้น หรือ เป็นการสร้างความมั่งคั่งให้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากพื้นฐานทางการเงินนั่นเอง

3+1 ส่วนของ Financial Pyramid ที่ต้องรู้

นักวางแผนการเงินแต่ละคนอาจมีแนวทางในการออกแบบและวางแผนการเงินด้วย Financial Pyramid ที่แตกต่างกันออกไป แต่โดยพื้นฐานแล้ว พีระมิดทางการเงินที่สามารถนำมาปรับใช้ได้กับเป้าหมายทางการเงินของทุกคนนั้นจะประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก และอีก 1 ส่วนพิเศษ ซึ่งจะมีรายละเอียดแตกต่างกัน ดังนี้

 

ส่วนที่ 1: Cash Flow Management

เพราะพื้นฐานของพีระมิดที่มั่นคงนำไปสู่การต่อยอดความสูงของพีระมิดที่ไม่สิ้นสุด ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการวางแผนทางการเงินแล้ว การสร้างพื้นฐานพีระมิดให้แข็งแรงและมั่นคงนั้นต้องเริ่มต้นจากการบริหารรายรับและรายจ่ายให้มีประสิทธิภาพเสียก่อน  เพราะพื้นฐานของพีระมิดที่มั่นคงนำไปสู่การต่อยอดความสูงของพีระมิดที่ไม่สิ้นสุด ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการวางแผนทางการเงินแล้ว การสร้างพื้นฐานพีระมิดให้แข็งแรงและมั่นคงนั้นต้องเริ่มต้นจากการบริหารรายรับและรายจ่ายให้มีประสิทธิภาพเสียก่อน

ซึ่งหลักพื้นฐานง่าย ๆ ของการบริหารเงินในส่วนนี้ สามารถทำได้โดยการบริหารรายจ่ายให้น้อยกว่ารายได้เพื่อนำส่วนต่างไปต่อยอด เพราะหากเรามีรายรับที่น้อยกว่ารายจ่ายเมื่อไหร่ นอกจากจะไม่มีเหลือเก็บแล้ว เงินในส่วนนี้ก็อาจกลายเป็นหนี้สินในอนาคตได้

โดยการบริหารรายรับรายจ่ายนี้อาจเริ่มต้นได้ง่าย ๆ จากการมีวินัยทางการเงินที่สม่ำเสมอ หมั่นทำบัญชีรายการรายรับและรายจ่ายในทุก ๆ วันเพื่อสำรวจพฤติกรรมทางการเงินของตัวเอง ตลอดจนหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้สินโดยไม่จำเป็น เช่น การใช้เงินบัตรเครดิตเกินวงเงิน การใช้บัตรเครดิตผิดประเภท หรือ ชำระค่างวดเป็นเงินขั้นต่ำจนทำให้เป็นหนี้สะสมไปเรื่อย ๆ

 

ส่วนที่ 2: Risk Management

เมื่อสร้างพื้นฐานของพีระมิดให้แข็งแรงโดยการบริหารรายรับรายจ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ทุกคนยังควรวางแผนการเงินให้เหลือเป็นเงินทุนสำรอง 3 - 6 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนด้วย เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินที่ทำให้เสียความสามารถในการสร้างรายรับไป หรือมีเหตุจำเป็นที่จะต้องใช้จ่าย อย่างคนในครอบครัวป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุ เงินในส่วนนี้ก็จะเข้ามาช่วยดูแลสภาพคล่องทางการเงินได้

ถึงจะเป็นเช่นนั้น หลายคนอาจมองว่า การบริหารความเสี่ยงในส่วนนี้เป็นเรื่องไม่จำเป็น เพราะสุดท้ายทุกคนก็สามารถนำเงินลงทุนออกมาใช้จ่ายได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การนำเงินลงทุนออกมาใช้ถือเป็นการทำลายเป้าหมายทางการเงินแบบอ้อม ๆ เลยก็ว่าได้ เพราะอย่าลืมว่าเงินที่นำไปลงทุน ควรถูกนำไปใช้เพื่อต่อยอดทางการเงินในเรื่องอื่น ๆ เช่น นำไปใช้เป็นเงินก้อนสำหรับเกษียณอายุ หรือ นำไปต่อยอดเพื่อการลงทุนทางธุรกิจ หรือเป้าหมายการเงินอื่น ๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การบริหารรายรับรายจ่ายให้มั่นคง จนมีเงินทุนสำรอง 3 - 6 เท่าของค่าใช้จ่ายปัจจุบันก็อาจทำให้เรามีเงินเพียงพอที่จะใช้จ่ายในยามขาดรายได้ แต่เงินส่วนนี้จะพอใช้แค่เพียง 3 - 6 เดือนเท่านั้น ซึ่งหากเรามีปัญหาสุขภาพ เป็นโรคร้าย เกิดอุบัติเหตุ หรือมีการผ่าตัดที่ต้องใช้เวลารักษาตัวนานจนทำให้ไม่สามารถทำงานได้ และไม่มีรายรับเหมือนอย่างเคย แน่นอนว่าเงินทุนสำรองนี้จะต้องนำมาใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพ และอาจทำให้ไม่มีเงินเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อย่างค่าผ่อนรถยนต์ บ้าน จนกลายเป็นปัญหาหนี้สินได้

ด้วยเหตุนี้ เพื่อวางแผนการเงินและบริหารความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น แม้จะมีเงินทุนสำรองแล้ว การมีประกันสุขภาพก็เป็นเรื่องจำเป็นที่ช่วยโอนย้ายความเสี่ยงเรื่องค่าใช้จ่ายและเหตุการณ์ฉุกเฉิน อีกทั้งการมีประกันสุขภาพประเภทต่าง ๆ ติดตัวเอาไว้ ยังทำให้เราไม่ต้องดึงเงินที่เก็บออมเพื่อเป้าหมายอื่น ๆ ในอนาคตมาใช้ และช่วยให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ตรงจุดโดยไม่ต้องกังวลเรื่องการบริหารค่าใช้จ่ายที่ไม่ลงตัว

ข้อควรระวัง:

ก่อนที่จะเลือกทำประกันประเภทใดก็ตาม อย่าลืมพิจารณาถึงความจำเป็น งบประมาณที่เหมาะสม ตลอดจนความเสี่ยงที่ประกันตัวนั้น ๆ สามารถคุ้มครองได้ เพราะหากเลือกทำประกันโดยไม่เช็กรายละเอียดให้ดี ประกันที่จะเข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงก็อาจกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายได้เช่นกัน

 

ส่วนที่ 3: Wealth Creation

เมื่อพื้นฐานของพีระมิดมั่นคงเพียงพอและมีมาตรการรองรับความเสี่ยงที่รัดกุมแล้ว ทีนี้ก็ถึงเวลาการต่อยอดพีระมิดขึ้นไป หรือ การสร้างความมั่งคั่ง โดยการวางแผนการเงินให้สามารถสร้างความมั่งคั่งได้นั้น จะต้องเริ่มต้นจากการตอบตัวเองให้ได้ว่า “เราเก็บเงิน หรือ ต้องการมีเงินมาก ๆ ไปเพื่ออะไร” เช่น บางคนอาจต้องการเกษียณตัวเองจากการทำงานในวัย 30 หรือ บางคนวางแผนเก็บเงินไว้เพื่อการเลี้ยงดูลูกในอนาคต เป็นต้น เพราะหากเป้าหมายทางการเงินไม่ชัดเจนตั้งแต่แรก โอกาสในการล้มเลิกความตั้งใจเพื่อสร้างความมั่งคั่งและต่อยอดทางการเงินก็จะยิ่งมีสูงขึ้น

แต่เมื่อตกลงกับตัวเองได้แล้ว พร้อมกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน การต่อยอดทางการเงินเพื่อสร้างความมั่งคั่งก็จะสามารถทำได้ 2 แบบ คือ

  1. การลงทุนเพื่อเป้าหมายที่จำเป็น (Need Base)

    เป็นการลงทุนเพื่อเป้าหมายที่สำคัญ เช่น ลงทุนเพื่อนำผลตอบแทนมาเป็นงบใช้จ่ายประจำวันเมื่อเกษียณอายุ หรือเป็นงบสำหรับจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพหลังเกษียณ โดยการวางแผนลงทุนเพื่อเป้าหมายนี้ควรจะต้องให้ความสำคัญมากที่สุด อีกทั้งยังควรมีวินัยและความระมัดระวังในการลงทุนเป็นอย่างยิ่ง

  2. การลงทุนเพื่อต่อยอดทางการเงิน (Want Base)

    เป็นการลงทุนเพื่อให้ชีวิตสบายยิ่งขึ้น หรือเพื่อต่อยอดเป้าหมายการเงินที่สูงยิ่งขึ้น ซึ่งถึงแม้จะไม่มี หรือ ไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้

    เช่น หากค่าใช้จ่ายการเกษียณอายุในข้อ 1 อยู่ที่ 50,000 บาทต่อเดือน โดยคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน ซึ่งหากวางเป้าหมายเพื่อการต่อยอดร่วมด้วย ก็อาจวางแผนลงทุนเพิ่มค่าใช้จ่ายรายเดือนหลังเกษียณเป็น 100,000 บาทได้ โดยหากใครตั้งเป้าหมายในส่วนนี้เข้าไปด้วยก็อาจจัดพอร์ตลงทุนให้มีความเสี่ยงสูงกว่าข้อ 1 ได้ และควรแยกพอร์ตลงทุนต่างหากให้ชัดเจน

โดยการลงทุนทั้งแบบ Need Base และ Want Base ตามที่อธิบายไปข้างต้นนั้น ทุกคนควรจัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะกับระยะเวลาที่ให้กับการลงทุน ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เลือก ไม่ว่าจะเป็นเงินฝากธนาคาร ตราสารหนี้ หุ้น กองทุนรวม ประกันชีวิต ประกันควบการลงทุน (Unit Linked) สหกรณ์ออมทรัพย์ หรือการลงทุนทางเลือกอื่น ๆ ก็ควรเลือกให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของนักลงทุน ทั้งในระหว่างลงทุน และ ในช่วงที่จะใช้เงินตามเป้าหมายนั้น ๆ ด้วย

 

ส่วนพิเศษ! Wealth Distribution หรือ Wealth Transfer

เมื่อวางแผนการเงินจนสามารถสร้างความมั่งคั่ง และมีเงินเพียงพอต่อความต้องการแล้ว ขั้นสุดท้ายของการสร้างพีระมิดทางการเงินให้เสร็จสมบูรณ์ คือ การส่งต่อความมั่งคั่งไปให้กับลูกหลานและคนในครอบครัว แต่หากใครที่ไม่มีครอบครัว หรือญาติเพื่อรับมรดกก็สามารถนำเงินในส่วนนี้ไปบริหารด้านอื่น ๆ เช่น มอบให้กับมูลนิธิ หรือ บริจาคให้กับองค์กรต่าง ๆ เพื่อทำสาธารณประโยชน์ต่อไป

สำหรับในขั้นตอนนี้ เราสามารถวางแผนบริหารเงินด้วยการวางแผนมรดกให้มีประสิทธิภาพ โดยจัดสรรปันส่วน พร้อมวางเงื่อนไขทางกฎหมายและสัญญาทุกข้อให้ชัดเจน ตรงตามความตั้งใจทั้งของผู้ให้ และถูกใจผู้รับ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการทะเลาะเบาะแว้ง สร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย และเพื่อเป็นบริหารภาษีมรดกได้อย่างถูกต้อง

ถ้าใช้ Financial Pyramid วางแผนการเงิน อย่าลืมวางแผนภาษีด้วย!

เมื่อจัดสรรปันส่วนทุกฐานของพีระมิดทางการเงินเรียบร้อยแล้ว “การจัดการภาษี” ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะมาร้อยเรียงและช่วยให้การวางแผนการเงินนี้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น

เคล็ดลับง่าย ๆ ก็คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ถูกกฎหมาย เสียภาษีน้อยที่สุด และต้องไม่กระทบต่อส่วนต่าง ๆ ของพีระมิดทางการเงิน โดยตามกฎหมายแล้ว เราสามารถทำได้โดยการลดหย่อนภาษี และมองหาการลงทุนที่เพิ่มความมั่งคั่งได้ เช่น การลงทุนกองทุนรวมเพื่อรับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี การออมกับประกันชีวิต การทำประกันชีวิตแบบบำนาญ หรือ Unit Linked เป็นต้น

ถึงจะดูเป็นการวางแผนการเงินที่ใช้เวลา แต่ Financial Pyramid ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีบริหารการเงินที่เซฟและตอบโจทย์ความต้องการของชีวิตได้ครอบคลุมมากที่สุดวิธีหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นวิธีการได้รับการยอมรับในระดับสากลอีกด้วย อย่างไรก็ดี การวางแผนทางการเงินให้เหมาะสมกับความต้องการ เป้าหมาย และชีวิตของแต่ละคนยังมีอีกหลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีอาจปรับใช้ร่วมกับ Financial Pyramid เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ต้องการได้เช่นกัน

ดังนั้น หากใครอยากเริ่มต้นวางแผนทางการเงินให้เหมาะสมกับเป้าหมายและการเงินของตัวเองมากที่สุด สามารถปรึกษานักวางแผนการเงินคุณวุฒิ CFP ที่ Money Adwise เพื่อเลือกวิธีการจัดการและวางแผนการเงินที่เหมาะสมกับคุณได้ นัดปรึกษาครั้งแรกฟรี! ที่ Line : @MoneyAdwise (มี @ ด้วย) หรือคลิกนัดปรึกษาบริการวางแผนการเงิน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้