Asset Allocation, Rebalancing, Switching จัดพอร์ตการลงทุนต้องเข้าใจ

จัดพอร์ตการลงทุนอย่างไร

ผู้เขียน รัฐพล วชิรเมฆากุล CFP®

การเปลี่ยนแปลงเป้าหมายทางการเงินและการลงทุนเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ แต่นักลงทุนเองก็จะต้องวางแผนการเงิน พร้อมจัดพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

โดยนักลงทุนสามารถเริ่มต้นจัดพอร์ตการลงทุนด้วยเทคนิค Asset Allocation และเมื่อเวลาผ่านไป ถ้าเป้าหมายการลงทุนไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่สัดส่วนการลงทุนเปลี่ยนไป นักลงทุนยังสามารถ Rebalancing พอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมได้

อย่างไรก็ดี หากผลตอบแทนจากพอร์ตการลงทุนไม่เป็นไปตามที่ต้องการ หรือ นักลงทุนมีการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายการลงทุนเมื่อไหร่ นักลงทุนก็ยังสามารถ Reallocating พอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมด้วยการทำ Fund Switching ได้เช่นกัน

เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้ ใครหลายคนก็อาจสงสัยอยู่ไม่น้อยว่า การทำ Asset Allocation, Portfolio Rebalancing และการทำ Fund Switching นั้นมีความเหมือนและแตกต่างกันอย่างไร วันนี้ที่ปรึกษาช่วยวางแผนการลงทุนจาก Money Adwise มีคำตอบ!

 

เข้าใจ Asset Allocation

Asset Allocation คือ เทคนิคจัดพอร์ตการลงทุนที่ตั้งอยู่ในความเชื่อที่ว่า “ไม่มีสินทรัพย์ใดให้ผลตอบแทนดีที่สุดตลอดเวลา” ด้วยเหตุนี้ การทำ Asset Allocation จึงเป็นการกระจายการลงทุนและจัดสรรเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ที่กำหนดสัดส่วนเอาไว้ตามความเหมาะสม

การเลือกสินทรัพย์ในการลงทุนแบบ Asset Allocation จะขึ้นอยู่กับเป้าหมายที่ต้องการและระยะเวลาที่ต้องการลงทุน เช่น บางคนอาจเลือกลงทุนในกองทุนรวมจากตลาดไทยและต่างประเทศ ในขณะที่หลายคนอาจเลือกลงทุนในตราสารหนี้ หุ้น และกองทุนที่สนใจ หรือหากใครต้องการสร้างโอกาสที่หลากหลายก็สามารถลงทุนในตลาดต่างประเทศได้เช่นกัน

 

เทคนิคการทำ Asset Allocation

หลายคนอาจสงสัยว่า การทำ Asset Allocation มีกี่ประเภทและจะปรับใช้แต่ละประเภทในการลงทุนได้อย่างไร ซึ่งโดยพื้นฐานแล้ว การทำ Asset Allocation ที่ได้รับความนิยมและถือว่าตอบโจทย์การลงทุนได้หลากหลายที่สุดจะเป็นการทำ Integrated Asset Allocation

Asset Allocation ประเภทดังกล่าวจะเน้นไปที่การตอบโจทย์การลงทุนแบบครอบคลุม ทั้งในเรื่องของผลตอบแทน ความเสี่ยง และสถานการณ์ในตลาด ทำให้สามารถสร้างผลตอบแทนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดบนพื้นฐานความเสี่ยงที่น้อยที่สุดในสถานการณ์ต่าง ๆ อีกทั้งนักลงทุนยังสามารถเลือกจัดพอร์ตการลงทุนด้วยเทคนิคทั้งระยะสั้นและยาวอีกด้วย

 

ข้อควรระวังในการทำ Asset Allocation

Asset Allocation ถือเป็นเทคนิคการลงทุนที่มีประสิทธิภาพสูงทั้งในแง่ของการตอบโจทย์เป้าหมาย การบริหารความเสี่ยง และผลตอบแทน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการเลือกสินทรัพย์การลงทุน รวมไปถึงประสบการณ์ และความเสี่ยงที่รับไหวของนักลงทุนด้วย

และอย่างที่กล่าวไปว่า ไม่มีสินทรัพย์ใดที่สร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุดได้ตลอดเวลา ดังนั้น นักลงทุนเองจึงต้องหมั่นติดตามผลและปรับพอร์ตการลงทุนอยู่เสมอ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในแต่ละช่วงเวลาตามเป้าหมายทางการเงินที่ต้องการในขณะนั้น

 

รู้จักการ Portfolio Rebalancing

Portfolio Rebalancing หรือ การปรับสมดุลพอร์ต คือ การปรับสัดส่วนสินทรัพย์ให้กลับมาอยู่ในสัดส่วนที่ตั้งใจ ทั้งนี้เพื่อเป็นการปรับความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ต้องการเหมือนเดิม ไปจนถึงการจัดพอร์ตเพื่อสร้างผลตอบแทนไปในทิศทางที่ต้องการ ซึ่งเปลี่ยนไปตามเป้าหมายเดิม หรือ เป้าหมายใหม่ก็ได้

ตัวอย่างเช่น:

หากตอนนี้มีเป้าหมายเพื่อการเกษียณ และได้ทำการกำหนดสัดส่วนการลงทุนผ่านการทำ Asset Allocation เพื่อมุ่งเน้นการสร้างผลตอบแทนในระยะยาว อาจเลือกสินทรัพย์เพื่อการลงทุน ดังนี้

  • กองทุนรวม 50% จำนวน 50,000 บาท
  • ตราสารหนี้ 25% จำนวน 25,000 บาท
  • หุ้นต่างประเทศ 25% จำนวน 25,000 บาท

จะเห็นได้ว่า มูลค่าการลงทุนในขณะที่จัดพอร์ตการลงทุนอยู่ที่ 100,000 บาท แต่เมื่อผลตอบแทนในอนาคตเพิ่มขึ้นจนกองทุนรวมมีมูลค่าเพิ่มจาก 50,000 บาทเป็น 100,000 บาท ในขณะที่ตราสารหนี้และหุ้นต่างประเทศยังไม่มีการเติบโต เท่ากับว่าพอร์ตการลงทุนของเราตอนนี้จะมีสัดส่วนอยู่ที่

  • กองทุนรวม จำนวน 100,000 บาท มีสัดส่วนอยู่ที่ 66.67%
  • ตราสารหนี้ จำนวน 25,000 บาท มีสัดส่วนอยู่ที่อยู่ 16.67%
  • หุ้นต่างประเทศ จำนวน 25,000 บาท มีสัดส่วนอยู่ที่ 16.67%

หากพิจารณาตัวเลขการลงทุนทั้งหมดจะเห็นได้ว่า สัดส่วนการลงทุนกองทุนรวมในปัจจุบันนี้จะอยู่สูงกว่าเดิมถึง 16.67% ดังนั้น หากนักลงทุนต้องการปรับพอร์ตให้กลับไปอยู่ในจุดที่ต้องการตามเป้าหมายเดิมก็สามารถเลือกขายกองทุนรวมออกไปจนมีมูลค่า 100,000 บาทเท่าเดิม หรือหากมีเป้าหมายใหม่ก็สามารถเลือกซื้อขายได้ตามต้องการนั่นเอง

 

เทคนิคการทำ Portfolio Rebalancing

การพิจารณาปรับสมดุลพอร์ตการลงทุนสามารถทำได้ 4 แนวทาง ประกอบไปด้วย

  1. การปรับพอร์ตตามเวลาที่กำหนด เช่น ระยะ 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี ตามที่นักลงทุนต้องการ
  2. การปรับพอร์ตตามสัดส่วนที่ต่างไปจากเดิม เช่น หากมีผลตอบแทนเพิ่ม หรือ น้อยลงจากสัดส่วนที่ตั้งเอาไว้ก็จะปรับพอร์ตทันที
  3. การปรับพอร์ตตามระดับการยอมรับความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น สามารถรับความเสี่ยงได้น้อยลง จึงปรับสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงให้น้อยลง
  4. การปรับพอร์ตแบบ Constant Proportion Portfolio Insurance (CPPI) เป็นการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากพอร์ตมีมูลค่าที่สูงขึ้น แต่เมื่อเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงก็จะต้องกำหนดมูลค่าสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำใหม่ด้วยเช่นกั

 

ข้อควรระวังของ Portfolio Rebalancing

การจัดพอร์ตการลงทุน พร้อมกำหนดการปรับสมดุลพอร์ตที่เหมาะสมสามารถช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่มีประสิทธิภาพตามเป้าหมายที่ต้องการได้

อย่างไรก็ดี การปรับพอร์ตการลงทุนนี้จะไม่ใช่การซื้อสินทรัพย์การลงทุนใหม่ เนื่องจากเห็นว่าสินทรัพย์ใดให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า แต่จะเป็นการวางแผนการลงทุนตั้งแต่ต้น พร้อมเลือกสินทรัพย์อย่างเข้าใจ เพื่อบรรลุเป้าหมายและเกาะอยู่กับแผนที่วางไว้ จนกว่าเป้าหมายจะบรรลุ

ดังนั้น นักลงทุนจึงควรกำหนดเป้าหมายทางการเงินที่ต้องการ จากนั้นจึงวางแผนและติดตามผลตอบแทนจากการลงทุนอยู่เสมอ และกำหนดการปรับสมดุลพอร์ตอย่างมีหลักการ ไม่คำนึงถึงผลขาดทุน หรือ กำไรเพียงอย่างเดียว

 

มาดู Fund Switching กันบ้าง

Fund Switching หรือ การสับเปลี่ยนกองทุน คือ การสับเปลี่ยนกองทุนเข้าและออกจากพอร์ต แทนที่จะทำการซื้อขายกองทุนตัวใหม่ ซึ่งการสับเปลี่ยนกองทุนนี้จะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นผลการดำเนินการของพอร์ต เป้าหมายการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนความต้องการของนักลงทุนเอง

 

เทคนิคการทำ Fund Switching

การทำ Fund Switching นั้นเป็นวิธีบริหารพอร์ตการลงทุนที่นักลงทุนสามารถออกแบบได้ตามความต้องการ ซึ่งอาจเป็นการสลับเงินลงทุนจากกองทุนเดิมไปยังกองทุนใหม่ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงเป้าหมาย หรือหากปรับสมดุลพอร์ตแล้วพบว่ามีส่วนเกิน หรือ ขาดไปจากสัดส่วนที่กำหนดไว้ก็สามารถสับเปลี่ยนกองทุนเพื่อปรับสัดส่วนได้เช่นกัน

 

ข้อควรระวังการทำ Fund Switching

นอกจากจะต้องศึกษารายละเอียดและความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่ต้องการสับเปลี่ยนแล้ว นักลงทุนยังต้องศึกษาถึงเงื่อนไขการสลับเปลี่ยนสินทรัพย์การลงทุนในแง่มุมต่าง ๆ เช่น ค่าใช้จ่ายในการสับเปลี่ยนกองทุน รวมไปถึงเอกสารที่ต้องจัดการ ตลอดจนรายละเอียดและผลประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้อง

 

เพียงเท่านี้นักลงทุนก็เข้าใจการทำ Asset Allocation เพื่อปรับสมดุลพอร์ต หรือ Portfolio Rebalancing และการสับเปลี่ยนกองทุนอย่าง Fund Switching เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หวังว่าข้อมูลทั้งหมดนี้จะเป็นตัวช่วยวางแผนการลงทุนที่มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์กับเป้าหมายที่ต้องการ

อย่างไรก็ดี โลกของการลงทุนนั้นไม่ได้มีเพียงการเลือกเทคนิค ตลอดจนปรับใช้เคล็ดลับที่เหมาะสม แต่ยังมาพร้อมกับรายละเอียดที่ต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน หากใครยังไม่รู้จะเริ่มต้นจัดพอร์ตการลงทุนอย่างไร สามารถปรึกษาและรับขั้นตอนการวางแผนการลงทุนที่เหมาะสมกับเป้าหมายและความต้องการของตัวเองจาก Money Adwise ได้ นัดปรึกษาฟรีครั้งแรกที่นี่

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้