งานที่ปรึกษาทางการเงิน ไม่เพียงแต่จะต้องอาศัยทักษะคิดวิเคราะห์และเข้าใจถึงความต้องการด้านการเงินของลูกค้าเท่านั้น แต่ยังเป็นสายอาชีพที่ใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จนทำให้ใครหลายคนสงสัยอยู่ไม่น้อยว่า ที่ปรึกษาทางการเงิน หรือ Financial Advisor ต้องมี License อะไรบ้าง หรือ หากต้องการสมัครงานที่ปรึกษาทางการเงินจะต้องใช้คุณวุฒิใดเพื่อยื่นพิจารณา มาไขทุกข้อสงสัยในบทความนี้กัน!
ความซับซ้อนของโลกการเงิน การลงทุน รวมถึงผลิตภัณฑ์การเงินทั้งหมดอาจทำให้ใครหลายคนสงสัยว่า อาชีพ Financial Advisor ต้องมี License อะไรบ้าง ซึ่งตามหลักแล้ว License ของงานที่ปรึกษาทางการเงินจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มใบอนุญาต และ กลุ่มคุณวุฒิ
มาเริ่มกันที่ใบอนุญาตกันก่อน โดยใบอนุญาตถือเป็น License ขั้นพื้นฐานที่นักวางแผนการเงินและการลงทุนทุกคนต้องมี เนื่องจากเป็นข้อบังคับจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หากใครให้บริการแนะนำผลิตภัณฑ์ หรือ วางแผนด้านการเงินโดยไม่มีใบอนุญาตจะถือว่าผิดกฎหมาย ในปัจจุบันนี้ ใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับงานที่ปรึกษาทางการเงินจะประกอบไปด้วย 2 กลุ่ม ดังนี้
ใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุน แนะนำได้เฉพาะสินทรัพย์ที่มีความเชี่ยวชาญตามระดับใบอนุญาต เช่น Investment Consultant Plain จะแนะนำได้เฉพาะตราสารทุน กองทุนรวม และตราสารหนี้ที่ไม่ซับซ้อน แต่หากเป็น Investment Consultant Complex 1 จะแนะนำได้ทั้งตราสารทุน กองทุนรวม ตราสารหนี้ทุกรูปแบบ และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีความเสี่ยงสูง
ใบอนุญาตผู้วางแผนการลงทุน ช่วยแนะนำและวางแผนการลงทุนให้แบบเฉพาะบุคคลตามเป้าหมาย หรือ ความสนใจได้ ซึ่งจะเป็นใบอนุญาตที่ต่อยอดมาจาก Investment Consultant อีกที
ใบอนุญาตนักวิเคราะห์การลงทุน ทำหน้าที่วิเคราะห์และประเมินสภาพและการสร้างผลตอบแทนของสินทรัพย์การลงทุนในสภาวะเศรษฐกิจ ตลอดจนสถานการณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มักเป็นใบอนุญาตขั้นพื้นฐานสำหรับผู้ที่ต้องการทำงานในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทประกันภัย
ตัวแทนประกันภัย / ประกันชีวิต คือ ผู้ที่ขายผลิตภัณฑ์ประกันที่มีสังกัดอยู่ในบริษัท เลือกขายได้เฉพาะประกันจากบริษัทที่สังกัดเท่านั้น ขึ้นทะเบียนใบอนุญาตตัวแทนประกันภัยได้ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัยหรือ (คปภ.)
นายหน้าประกันภัย / ประกันชีวิต เป็นคนกลางอิสระที่สามารถเสนอขาย หรือ แนะนำผลิตภัณฑ์ประกันได้ทุกบริษัท สามารถขึ้นทะเบียนใบอนุญาตตัวแทนประกันภัยได้ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัยหรือ (คปภ.)
รู้ไว้ใช่ว่า!
ตามกฎหมายแล้วจะสามารถเลือกเป็นได้แค่ ‘ตัวแทน’ หรือ ‘นายหน้า’ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะไม่มีข้อบังคับเรื่องผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ หรือ เสนอขาย เช่น เป็นตัวแทนประกันภัยและประกันชีวิตพร้อมกันได้ หรือ เป็นนายหน้าประกันภัยและประกันชีวิตพร้อมกันได้
นอกจาก License กลุ่มใบอนุญาตแล้ว การเติบโตในสายงานที่ปรึกษาทางการเงินยังต้องอาศัย License ในกลุ่มคุณวุฒิพิเศษเช่นกัน โดยคุณวุฒิต่าง ๆ นี้จะเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ด้านการวางแผนการเงินได้อย่างรอบด้าน ทำให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ทุกกลุ่ม ตั้งแต่บุคคลธรรมดา เจ้าของธุรกิจ ไปจนถึงผู้ที่ต้องการวางแผนการลงทุนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ปัจจุบันนี้ คุณวุฒิสำคัญสำหรับงานที่ปรึกษาทางการเงินนั้นจะประกอบไปด้วย 3 แบบหลัก ดังนี้
คุณวุฒิที่ปรึกษาทางการเงินที่ได้รับการรับรองจากสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ผู้เข้าสอบจะต้องเลือกสายความเชี่ยวชาญเพื่อรับคุณวุฒิเป็น ‘AFPT™ สำหรับการลงทุน’ หรือ ‘AFPT™ สำหรับการประกันภัย’
นักวางแผนทางการเงินที่ได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ CFP® มาพร้อมกับความเชี่ยวชาญด้านการวางแผนการเงินทุกรูปแบบ ทั้งยังสามารถช่วยวางแผนจัดการภาษีและมรดก ประกันภัยทุกรูปแบบ ไปจนถึงแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับเป้าหมายที่ต้องการ อีกทั้งยังสามารถแนะนำการวางแผนเกษียณที่เหมาะสมได้ ถือเป็นคุณวุฒิระดับโลกที่ให้บริการวางแผนการเงินและการลงทุนได้อย่างครอบคลุม
คุณวุฒิด้านการเงินและการลงทุนระดับโลกที่ได้รับการรับรองจาก CFA Institute ประเทศสหรัฐอเมริกา เหมาะสำหรับใช้ต่อยอดในสายอาชีพอย่างผู้วิเคราะห์หลักทรัพย์ หรือ ผู้จัดการกองทุน ที่ต้องมีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการหลักทรัพย์ขั้นสูง
ได้รู้กันไปแล้วว่างานที่ปรึกษาทางการเงิน หรือ Financial Advisor ต้องมี License อะไรบ้าง สำหรับใครที่ต้องการวางแผนสอบ License เพื่อสมัครงานเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน แต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ลองมาพิจารณาตาม 3 ขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้
อาชีพที่ปรึกษาทางการเงินเหมาะสำหรับผู้ที่มีใจรักการบริการ ใจเย็นที่จะรับฟังเพื่อเข้าใจปัญหาและความต้องการด้านการเงินของผู้อื่น อีกทั้งยังต้องเป็นผู้ที่ขยันเรียนรู้ อัปเดตความรู้ใหม่ ๆ เสมอ และยังต้องติดตามข่าวสารอย่างเป็นประจำ
อย่าลืมว่า ที่ปรึกษาการเงินจะเป็นผู้เข้ามาบริหารจัดการการเงินของผู้อื่น ดังนั้น หากไม่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง ไม่ขยันเรียนรู้ หรือ ไม่พยายามเข้าใจผู้อื่นอย่างเป็นกลาง ก็อาจทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อทั้งอาชีพและการเงินของลูกค้าได้
หากสำรวจตัวเองเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า ต้องการเริ่มงานที่ปรึกษาทางการเงินอย่างแน่นอน ขั้นตอนต่อมา คือ การเริ่มอบรมและสอบใบอนุญาตที่จำเป็น เช่น Investment Consultant และ Investment Planner
จากนั้น แนะนำให้ต่อยอดไปยังใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับประกัน และเพิ่มพูนความรู้เพื่อการให้บริการที่ครบครันจากการอบรมและสอบคุณวุฒิเป็นลำดับต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณวุฒิวิชาชีพ CFP® ที่ครอบคลุมการวางแผนการเงินแบบรอบด้าน ซึ่งปัจจุบันนี้ในประเทศไทยมีเพียงแค่ 421 คนเท่านั้น
บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินชั้นนำหลายแห่งเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ได้เข้าทำงานในสายอาชีพการเงินได้โดยไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาต หรือ คุณวุฒิมาก่อน
ทุกคนสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงานจริง เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิชาชีพนี้ได้อย่างละเอียด จากนั้นจึงพัฒนาตนเอง พร้อมเตรียมตัวไปอบรมและสอบใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องได้เช่นกัน
จะเห็นได้ว่า การเตรียมตัวสอบใบอนุญาตและการสมัครงานที่ปรึกษาทางการเงินนั้นไม่ได้ยากอย่างที่คิด ขอเพียงมีความตั้งใจและมุ่งมั่นก็สามารถเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่มีความสามารถได้
แม้จะยังไม่มีประสบการณ์ ใบอนุญาต หรือ คุณวุฒิ หากมีความสนใจเรื่องการเงินการลงทุนและพร้อมพัฒนาตัวเองในสายงานการเงิน สามารถสมัครเป็นที่ปรึกษาทางการเงินกับ Money Adwise เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงานร่วมกับนักวางแผนการเงินที่ได้รับการรับรองคุณวุฒิ CFP® พร้อมพัฒนาทักษะเพื่อเตรียมความพร้อมสอบใบอนุญาตและคุณวุฒิต่อไป กรอกแบบฟอร์มนี้ให้ครบแล้วนัดเวลาคุยได้ทันที